จะปฏิเสธเพื่อนยืมเงินอย่างไร ไม่ให้ผิดใจกัน
จะปฏิเสธเพื่อนยืมเงินอย่างไร ไม่ให้ผิดใจกัน
การหยิบยืมเงินกันในหมู่เพื่อนฝูงอาจจะดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป แต่สิ่งที่เราคุ้นเคยนั้น มักจะเป็นการหยิบยืมแบบชั่วคราว จำนวนเงินเล็กๆน้อยๆ เช่นไปเดินตลาดด้วยกันแล้วขาดเงินนิดหน่อย จะเดินไปหาเครื่อง ATM แล้วกลับมาจ่ายก็เสียเวลาเลยขอหยิบยืมก่อนแล้วคืนในภายหลัง ในกรณีลักษณะนี้ถือเป็นวิสัยปกติของการแสดงน้ำใจระหว่างเพื่อนฝูง อันเป็นการรักษาพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนฝูงกัน
แต่การหยิบยืมเงินในบางลักษณะที่เราอาจจะพบว่ามันสร้างความอีดอัดให้กับผู้ให้ยืม จะปฏิเสธก็เกรงใจเพื่อนฝูง เพราะครั้นเกรงว่าถ้าให้ยืมไปแล้วจะทวงถามกันอย่างไร ถ้าเงินพันสองพันก็คงพอทำใจได้ว่าเงินเล็กน้อย แต่บางรายการหยิบยืมนี่ทำยังกะว่าเราเป็นสถาบันการเงิน จะปฏิเสธแบบห้วนๆก็เหมือนจะไม่รักษาน้ำใจ กลัวเสียเพื่อน เรามีวิธีมาแนะนำการปฏิเสธแบบนุ่มนวลว่า หากเพื่อนมายืมแล้วจะปฏิเสธอย่างไรดี
ถามสาเหตุของการยืมเงิน
อันดับแรกเลย เวลาเพื่อนมายืมเงิน เราก็ต้องถามทีเล่นทีจริงว่า ยืมไปทำอะไร ยืมไปซื้อรถซื้อบ้าน ยืมไปเป็นค่าสินสอดหรืออะไรกันแน่ เหตุผลการยืมจะเป็นตัวบ่งบอกว่าสมควรให้ยืมหรือไม่ การยืมเงินจำนวนพอประมาณและเร่งด่วนนั้น จะต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะมายืมเรา เพราะสมัยนี้ สถาบันการเงินต่างๆมีบริการบัตรเงินสดเงินผ่อน สินเชื่อบุคคลมากมายหลายประเภทให้เลือก
บางคนจะมายืมเราเพราะมองว่าไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ยืมเพื่อนดีกว่า แบบนี้คงจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายว่าไม่ต้องการให้ยืมแล้วจะได้ดำเนินการขั้นต่อไป แต่หากยืมเพราะลูกไม่สบายป่วยหนัก รถประสบอุบัติเหตต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะไม่อยากเป็นคดี หรือต้องใช้เงินไปประกันตัวญาติๆ เหตุผลเหล่านี้ก็ดูดี แต่เราต้องตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ เช่นลูกไม่สบายก็ต้องให้เพื่อนมาไปดู จะไปประกันตัวก็ต้องให้เพื่อนพาไปศาล มีปัญหาเรื่องรถก็ต้องไปตามไปดู ไม่งั้นเขาก็กล่าวอ้างอะไรก็ได้เพื่อยืมเงินเรา
ถ้าเหตุผลที่ดูดี แต่ตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบยาก เราก็อาจจะต้องหาข้อมูลจากสภาพแวดล้อม เช่นถามคนอื่นๆว่า หมอนี่มันจะยืมเงินไปเปิดร้านจริงเหรอ เขาเคยยืมใครมาบ้าง การชำระคืนเป็นอย่างไร หรือเป็นหนี้สินอิรุงตุงนัง ถ้าดูสภาพแล้วคงจะเป็นการยืมแบบหมุนเงิน คนอื่นๆบ่นกันว่ายืมแล้วทำเฉย เราก็มั่นใจได้ว่าไม่ให้ยืมแน่ๆ เราก็ต้องมาดำเนินการขั้นต่อไป
ตรวจสอบสถานะการเงิน
หากเราตัดสินใจจากเหตุผลข้างต้นแล้วว่าจะไม่ให้ยืมแน่ๆ เราก็จะต้องสร้างขวากหนามให้เขายืมเราได้ลำบากมากขึ้น ด้วยการทำหน้าที่เหมือนฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร โดยการบอกว่าโอเคเราเห็นใจเขา แต่เขาก็ต้องเห็นใจเราบ้าง ด้วยการเปิดเผยสถานะการเงินออกมา จะได้ดูว่าจะให้ยืมได้มากน้อยแค่ไหน
เพื่อนก็จะถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เราก็แจงไปเหมือนฝ่ายสินเชื่อคือ
– ให้เอาสลิปเงินเดือนมาให้ดู
– เอาสมุดบันชีธนาคารที่เดินบัญชีล่าสุดมาให้ดูด้วย
– เอาใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่างๆที่มีอยู่
ถึงขั้นตอนนี้ คนที่ยืมส่วนใหญ่ก็มักจะถอดใจ ด้วยเพราะไม่อยากจะให้เพื่อนรู้สถานะการเงินตัวเอง อาจจะด้วยเพราะอับอาย หรือมันบ่งบอกถึงสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวก็แล้วแต่ นั่นเพราะคนที่เครดิตไม่ดีเขาก็ยืมในระบบไม่ได้ก็หันมาหยิบยืมเพื่อน ก่อนที่จะไปหยิบยืมเงินนอกระบบต่อไป ส่วนคนที่เครดิตดีอยู่แล้ว ถ้าจะเปิดเผยข้อมูล ก็สู้ไปกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบดีกว่า
มาถึงครงนี้ คนที่จะมายืมเราอาจจะโวยวายว่า เราเรื่องมากขอยืมเงินนิดหน่อยเองทำไมต้องทำกันแบบนี้ เราก็แค่บอกกลับไปว่า ก็ไหนว่าเดือดร้อนจะยืมไง ถ้าเดือดร้อนจริงก็ต้องแสดงข้อมูลความเดือดร้อนออกมาได้ซิ นี่แสดงว่าจะยืมเงินไปเลี้ยงสาวหรือเปล่า ทำเป็นพูดทีเล่นทีจริงไป
ส่วนคนที่เดือดร้อนจริง เขาอาจจะเห็นว่าเอาเอกสารมาให้ดูไม่เห็นจะเสียหายอะไร เผื่อจะได้ยืมเงินไปคลายทุกข์ได้ เราขอเอกสารอะไรเขาก็ให้มาหมด เจอแบบนี้เราอาจจะเริ่มเหงื่อตกว่าสงสัยต้องให้ยืมจริงเหรอเนี่ย เพื่อนไม่หลงกลเรา ดันตอบสนองทุกเม็ดแบบนี้
ไม่ต้องกังวลอะไรมากมาย เพราะเรามีขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดำเนินการ
ประเมินรายได้ รายจ่าย
มาถึงขั้นตอนนี้ เมื่อเราได้เอกสารของเพื่อนมาบ้างแล้ว ก็ขอดูย้อนหลังซัก 2 – 3 เดือน ถ้าไม่ให้ก็บอกไปว่าให้ไปหามา ไม่งั้นก็จะไม่ให้ยืม แต่ถ้าในสมุดบัญชีมีข้อมูลครบครัน หรือมีใบเสร็จครบเราก็เริ่มทำการบ้านทันที
นั่นคือคำนวนรายได้คือเงินเดือน หรือรายรับรวมว่าเท่าไหร่ แล้วหักค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนออกทั้งหมดว่าเท่าไหร่ คงเหลือเป็นเงินสดให้ใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่เป็นตัวเลขกลมๆ
เราอาจจะพบว่าบางทีแค่สลิปเงินเดือนโดนหักค่าโน่นนี่นั่น เช่นเงินกู้ออมสิน เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ก็อาจจะเหลือไม่กี่พัน ก็ถามไปว่าแล้วเอ็งอยู่รอดได้อย่างไรเนี่ย เอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย คำตอบจากเพื่อนจะทำให้เราใช้เป็นข้อสรุปได้ในหัวข้อถัดไป
บางคนเงินเข้าบัญชียังเหลือเยอะอยู่ แต่ต้องเอาไปผ่อนบ้านผ่อนรถจนหมด ก็ทำนองเดียวกันกับข้างบน คือต้องถามว่าเงินหายไปไหนหมด แล้วอยู่มาได้อย่างไร
ประเด็นสำคัญที่เราต้องรู้ให้ได้อย่างมั่นใจคือ เงินสดคงเหลือในทุกต้นเดือนที่ได้รับเงินเดือนและหักค่าใช้จ่ายแล้วนั้นเหลือเงินเท่าไหร่
ขั้นตอนนี้เราทำหน้าที่เหมือนฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆนั่นเอง เพื่อประเมินว่าลูกหนี้รายนี้จะมีความเสี่ยงหรือไม่ถ้าหากให้ยืมเงินออกไป ถ้าเสี่ยงมากเกินก็ไม่ให้ยืม ถ้าเสี่ยงน้อยหน่อยก็พอจะให้ยืมได้ แต่วงเงินก็ตามความสามารถในการชำระหนี้คืน
ให้คำตอบ หลังจากเพื่อนตอบคำถามวิธีการชำระเงินคืน
เมื่อได้คำตอบจากเอกสารมาแล้ว เช่นเพื่อนยังเหลือเงินสดเดือนละประมาณ 5000 บาท แต่จะมายืมเราไป 10,000 บาท แล้วบอกเหตุผลว่าจะใช้คืนสิ้นปีตอนโบนัสออก เราก็ต้องถามว่าแล้วจะเอาเงิน 10,000 บาทไปทำอะไร ซึ่งก็ย้อนไปที่เหตุผลข้างต้นว่า สมเหตุสมผลหรือไม่
คำถามคือถ้าเราให้ยืมไปแล้ว แต่ละเดือนระหว่างนี้เงินเดือนพอใช้หรือไม่ ถ้าไม่พอใช้จะไปหยิบยืมใคร เราสามารถประเมินจากคำถามคำตอบได้เลยว่า เหตุผลดูสมควรแก่เหตุหรือไม่
สำหรับคนที่ต้องการยืมเงิน แล้วมาบอกว่าจะผ่อนจ่ายรายเดือน ตัวเลขจะเป็นตัวบ่งบอกเราเมื่อยืมเงินไปแล้ว แต่ละเดือนเหลือเงินเท่าไหร่ ผ่อนจ่ายเราเท่าไหร่ แล้วจะเหลือเงินใช้จ่ายอีกเท่าใด
เช่นเงินสดเหลือเดือนละ 5000 มายืมเงินเราไป 10,000 บาท โดยบอกว่าจะจ่ายคืนเดือนละ 1000 บาท เป็นเวลา 10 เดือน เราก็ต้องชี้ให้เห็นว่าแล้วจะเหลือเงินใช้แค่เดือนละ 4,000 บาท จะพอหรือ ไหนจะค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ากาแฟ ประมาณนี้
เหตที่เราต้องชี้ให้เขาเห็นก็เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดว่า ยืมเงินให้ได้ก่อน ส่วนจะผ่อนได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน คือถ้าเดือนไหนเงินไม่พอใช้ก็จะขอผัดผ่อน แต่ปัญหาคือการผัดผ่อนก็จะทำไปเรื่อยๆทุกเดือนจนเราไม่มีโอกาศได้เงินคืน
เมื่อเขาเห็นตัวเลขรายได้ รายจ่าย เงินที่เหลือ เงินที่จะผ่อน เขาก็ย่อมจะรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ไหวแน่ๆ หรือพูดง่ายๆ คงได้คืนยากแน่ๆ เพื่อนที่มายืมจะมาในแนวขอร้องว่าช่วยหน่อย เห็นแก่ความเป็นเพื่อน เราก็คงต้องปล่อยหมัดเด็ดออกไป
รับเรื่องไว้พิจารณา
เราก็ทำตัวให้เหมือนสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อทั่วไป นั่นคือทำตัวเป็นเจ้าหนี้ที่รับเรื่อง และประเมินความเสี่ยง แต่การอนุมัติอยู่ที่ผู้จัดการ ซึ่งในกรณีของเราก็บอกเพื่อไปว่า เงินไม่ได้อยู่ที่เรา เงินเดือนให้แฟนเป็นคนจัดการ แม้เราเป็นผู้หญิงการบอกว่าให้แฟนจัดการเรื่องเงินก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เหตุผลของเราคือการถอนเงินจำนวนมากเกินหลักพันต้องบอกแฟน เพราะใช้เงินเหมือนกระเป๋าเดียวกัน ผ่านไประยะหนึ่งเราก็ให้คำตอบไปว่า
“เราก็อยากให้ยืมนะเพราะสงสารเอ็ง แต่แฟนบอกว่าดูท่าทางแล้วจะได้คืนยาก เลยไม่อยากทะเลาะกะแฟนเพราะเรื่องเพื่อนจะยืมเงิน เอ็งเข้าใจเรานะว่าแฟนเราเป็นคนอย่างไร เราคบกันด้วยเรื่องอื่นดีกว่านะ อย่าให้เรื่องเงินๆทองๆ มันมาเกี่ยวข้องเลย”
นั่นคือเราผลักภาระการให้คำตอบไปยังแฟนเรานั่นเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มาถึงจุดนี้ก็มักจะถอยไปโดยปริยาย แล้วไปลองยืมกับคนอื่นที่อาจจะได้ง่ายกว่ายืมเงินเรา
บทสรุป
หากเพื่อนมายืมเงินเราแล้วลำเลิกบุญคุณกับเราเพื่อจะยืมเงิน เราต้องพยายามสร้างความลำบากในการยืมเงินให้กับเขานั่นคือ
1 ถามเหตุผลการยืมเงิน และตรวจสอบให้ชัดเจน
2 ขอดูหลักฐานการเดินบัญชี
3 คำนวนรายรับรายจ่าย ดูเงินที่เหลือว่าพอจะผ่อนเราได้หรือไม่
4 ซักถามประเด็นการยืมเงิน รายจ่าย การใช้คืน
5 โยนการอนุมัติไปที่ พ่อแม่ หรือแฟน
คนส่วนใหญ่แล้วเมื่อมาเจอขั้นตอนข้อ 2 ก็มักจะหายไปเลยเพราะไม่อยากเปิดเผยข้อมูลการเงินของตัวเอง แล้วอาจจะบ่นทำนองว่าใจร้ายใจดำ แต่อย่าลืมว่า
การให้ยืมกับเพื่อนนั้น “เราจะเสียทั้งเงิน และเพื่อน”
แต่การไม่ให้ยืม “เราจะเสียแค่เพื่อนเท่านั้น”
ภาพประกอบ : someecards.com
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.