กู้เงินด่วนผ่านเฟสบุค ระวังจะโดนหลอกเอาง่ายๆ
กู้เงินด่วนผ่านเฟสบุค ระวังจะโดนหลอกเอาง่ายๆ
ยุคนี้ใครๆต่างก็มีสมาร์ทโฟนเล่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา ไปจนถึงพนักงานออฟฟิสในเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีการค้นหาเงินกู้เงินด่วนกันมากที่สุดเพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนทางด้านการเงิน
ที่ผ่านมาคนที่ต้องการเงินด่วน อาจจะติดต่อนายทุนผ่านนายหน้าแถวละแวกบ้าน การหลอกลวงกันจึงมีไม่มาก แต่มาสมัยนี้ทุกคนเล่นเฟสเป็นกัน ก็จะมีการหาเงินด่วน เงินกู้ผ่านทางเฟสกันมากขึ้น มิจฉาชีพเลยจะคอยมาฉวยโอกาสหลอกลวงผ่านเฟสกันมากขึ้น
หลายๆคนเลยไปค้นหาข้อมูลเงินกู้ผ่านเฟสบุคด้วยความคาดหวังว่าจะเจอแหล่งเงินกู้เหมือนที่จินตนาการเอาไว้ว่า จะมีนายทุนใจดียอมปล่อยเงินกู้ให้กับคนที่ไม่รู้จักหน้าค่าตา ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แล้วจะยินดีเดินทางมาพบกัน
พอเข้าไปดูข้อมูลในเฟส ก็พบข้อความที่ทำให้มั่นใจไปได้อย่างนั้น เพราะจะเห็นคอมเม้นท์หลากหลาย โต้ตอบกันระหว่างคนที่เข้าไปถามกับคนที่ดูแลเพจ
อ่านคอมเม้นท์ต่างๆก็จะดูน่าเชื่อถือ ทางเจ้าของเพจก็จยืนยันว่าไม่โกง ให้กู้จริง พร้อมระบุว่าไม่หากินบนความเดือดร้อนของคนอื่น และจากข้อมูลที่เห็นมีลูกค้าหลายรายได้รับเงินไปแล้วจริงๆมาโพสยืนยันอีกด้วย (ความจริงก็คือหน้าม้าของเขานั่นแหละ)
พอสอบถามข้อมูลว่าจะกู้บ้าง เขาก็บอกเงื่อนไขมาก็คือ ผู้กู้จะต้องทำประกันเงินกู้ด้วย เหมือนประกันรถยนต์ที่พอรถหายแล้วบริษัทประกันก็จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเจ้าของ
กรณีนี้ถ้าลูกหน้าหายไม่ผ่อนจ่ายรายเดือน บริษัทประกันก็จะทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ปล่อยกู้หากผู้กู้ไม่ชำระเงินคืนเป็นระยะเวลา 4 งวดติดต่อกัน แล้วบริษัทประกันจะเป็นผู้ไปติดตามทวงหนี้เอาจากผู้กู้เอง โดยเหตุที่ต้องทำแบบนี้ นัยว่าต้องการลดความเสี่ยงลง เนื่องจากที่ผ่านมาโดนลูกหนี้เชิดเงินไปเป็นจำนวนมาก โดยค่าประกันนั้นผู้กู้จะต้องชำระเอง อัตราการชำระก็จะขึ้นอยู่กับวงเงินที่ผู้กู้ต้องการ
คราวนี้หากเราเริ่มคล้อยตามเพราะทุกอย่างดูสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ บวกกับมีความต้องการใช้เงินด่วน ทางเพจเฟสบุคนั้นก็จะบอกว่าต้องส่งเอกสารอะไรไปบ้าง ซึ่งการขอเอกสารก็เหมือนไฟแนนซ์ทั่วไป เช่นสำเนาบัตรปชช สลิปเงินเดือน หน้าบัญชีที่จะโอนเงินกลับมาให้ ยิ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือเข้าไปอีกว่าจะได้เงินโอนแน่ๆ
สักพักพอส่งรูปเอกสารที่เขาต้องการไปให้ โดยไม่ต้องส่งตัวจริง (ซึ่งจะว่าไปแล้วมันจะใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องอะไรไม่ได้เพราะไม่ได้รับรองสำเนาด้วยลายมือชื่อ) เขาก็จะบอกวงเงินกู้ที่เราจะได้และจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนในแต่ละงวด ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ดูน่าเชื่อถือ เช่นกู้เงิน 40,000 บาท จะต้องผ่อนเดือนละ 3934 บาท เป็นต้น สำหรับระยะเวลา 12 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้วเพียง 18% ต่อปี (Fixed) โอ้วตกเดือนละ 1.5% เท่านั้น ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบทั่วไปซะอีก ส่วนเงินประกันก็จะคิดที่ 2,000 บาท
แต่ที่พึคสุดก็คงจะอยู่ที่ว่า ถ้าเราต้องการเงินกู้ก้อนนี้จะต้องโอนเงินค่าประกันมาภายใน 1 ชั่วโมงนี้เท่านั้น ไม่งั้นเขาจะเอาวงเงินนี้ไปให้ว่าที่ลูกหนี้รายอื่นที่กำลังรอคิวอยู่ หลังจากนั้นเขาจะส่งหมายเลขบัญชีของบริษัทประกันภัยมา
พอเหยื่อไปค้น google ก็จะพบว่ามีข้อมูลของบริษัทประกันนี้อยู่ ทั้งที่อยู่บริษัท ทุนจดทะเบียน เลขที่นิติบุคคล (ก็เขาทำเตรียมไว้ให้ google ไปดูดข้อมูลมาเก็บไว้แล้วนี่นา) ซึ่งก็ดูน่าเชื่อถือ ต่อมาด้วยความมั่นใจว่าจะได้เงินแน่ ก็เลยไปโอน ซึ่งในขั้นตอนการโอนจะโผล่ชื่อบริษัทประกันขึ้นมาที่ตรงกับชื่อที่เขาให้มา เลยมั่นใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องจริงแน่นอน
พอโอนเงินเสร็จ ส่งสลิปไปให้ทางเพจ รอประมาณ 1 ชั่วโมงเขาก็จะแจ้งหมายเลขกรมธรรม์มาให้ แล้วบอกว่าขอเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงจะโอนเงินมาให้
ถึงตอนนี้เงินด่วนที่ว่ามันจะไม่ด่วนมาแล้วนะซิครับ พอถามไปว่าเมื่อไหร่จะโอนเงินมา เขาจะบอกให้รออย่างเดียว ถามตอนแรกๆจะบอกว่ามีคิวโอนเยอะเพราะลูกค้าเยอะ อาจจะบอกว่าต้องรอ 100 คิว พอโทรถามเป็นระยะๆ จำนวนคิวจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้เราเริ่มจับจังหวะได้ว่าควรจะโทรไปอีกตอนไหน
ผ่านไปเกือบ 12 ชั่วโมง พอโทรไปอีกทีจะบอกว่าเหลือ 10 คิวละ ฝั่งผู้ต้องการเงินด่วนก็อาจจะยิ้มรออยู่ พอรอจนเหลือ 2 คิว ก็จะเริ่มตื่นเต้น และสุดท้ายจะโดนบล้อคไม่สามารถติดต่อได้อีก ถ้าเอาเฟสอื่นติดต่อไปก็จะพูดคุยปกติ
นั่นแสดงว่ากว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าโดนหลอกโอนเงินก็เป็นวัน รอจนดึกดื่น จะออกไปแจ้งความก็ไม่สะดวก ฝั่งโน้นก็คงถ่วงเวลาเพื่อไปกดเงินกับตู้ ATM ที่ห่างไกลผู้คนกันไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
สรุปว่ามิจฉาชีพจะอาศัยการสร้างข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือผ่านเฟส อาศัยหน้าม้าเข้ามาอวยกันเอง แล้วทำระบบข้อมูลต่างๆให้ดูสมจริงเพื่อหว่านล้อมให้เหยื่อโอนเงินให้ได้
ดังนั้นประเด็นสำคัญที่จะไม่ให้โดนหลอกก็คือ อย่าโอนเงินให้ใครก่อนโดยไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันนั่นเอง
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.