จะซื้อประกันภัยรถยนต์แบบไหนดี
จะซื้อประกันภัยรถยนต์แบบไหนดี
สำหรับคนที่ซื้อรถใหม่ป้ายแดงจากห้าง และขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากเพราะทางไฟแนนซ์ต้องบังคับทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 อยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินที่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์อยู่ เราเป็นเพียงผู้เช่าซื้อเท่านั้น
แต่สำหรับคนที่มีรถยนต์ที่ปลอดภาระผูกพันธ์ และอายุรถเกิน 5 ปี ขึ้นไป มักจะลังเลว่าจะซื้อประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ดีหรือไม่ เพราะหากเป็นรถเก๋งขนาดกลางค่าประกันก็ตกปีละเกือบ 20,000 บาท ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เคลมอะไรมากมาย ก็อาจจะเกิดอาการเสียดายค่าเบี้ยประกันภัย เลยอาจจะกำลังมองหาประกันภัยประเภทอื่น ซึ่งปัจจุบันก็มีลักษณะของประกันรูปแบบต่างๆ ออกมาขายมากมายหลายรูปแบบด้วยกัน
โอกาสนี้จึงลองมาดูรายละเอียดกันนะครับว่า ประกันแบบใดเหมาะสมกับรถยนต์ของท่าน
มีรถยนต์แล้วต้องซื้อประกันภัยหรือไม่
จะว่าไปแล้วกฏหมายไทยไม่ได้กำหนดให้ท่านต้องซื้อประกัน ไม่ว่าจะชั้น 1 หรือ 2 หรือชั้น 3 แต่กฏหมายกำหนดให้ท่านต้องซื้อประกันภัยภาคบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า พ.ร.บ. ซึ่งมาจากชื่อเต็มคือ การประกันรถยนต์ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่บังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ที่ว่านี้
หากเราไม่ทำก็จะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือแม้ทำแล้วแต่แต่ไม่ติดเครื่องหมายไว้ (สติกเกอร์ พ.ร.บ.บุคคลที่ 3) ที่รถให้เห็นชัดเจนก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ประกันนี้จึงมักเรียกกันย่อ ๆ ว่า ประกันภาคบังคับ
ประกันภัย พ.ร.บ. นั้นทุกคนต้องซื้อตอนไปต่อทะเบียนรถที่ขนส่ง ซึ่งราคาจะอยู่ที่ประมาณ 600 กว่าบาทเท่านั้น
แต่สำหรับบุคคลที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการชดใช้ค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอกกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ก็อาจจะซื้อประกันภัยชั้น 3 ขึ้นไปได้ เพื่อให้ความคุ้มครองอย่างน้อยก็เป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ความแตกต่างของประกันภัยแต่ละประเภท
เปรียบเทียบประกันภัยประเภทหลักๆ ซึ่งจะมี ประกันภัยชั้น 3 ชั้น 2 และชั้น 1
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 (Third Party) ซึ่งเป็นประกันภัยที่คุ้มครองบุคคลภายนอก ซึ่งหมายถึงสิ่งที่อยู่ภายนอกรถ และบุคคลที่โดยสารมาด้วย แต่จะไม่คุ้มครองตัวรถที่เอาประกัน การรับประกันส่วนใหญ่จะรับประกันเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีรับจ้างหรือให้เช่า โดยเงื่อนไขหลักๆคือ
– คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัยด้วย
– คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
– ความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้าย การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล และ การประกันผู้ขับขี่
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 (Third Party, Fire and Theft) เป็นประกันภัยที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในบ้านเรา เนื่องจากดูเหมือนว่าจะไม่ต่างจากประกันชั้น 3 เท่าไหร่ แต่ค่าเบี้ยประกันแพงขึ้นมาในระดับที่เพิ่มเงินอีกไม่มากก็จะซื้อประกันชั้นหนึ่งได้แล้ว ทั้งนี้ความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 นั้นจะเหมือนกับชั้น 3 แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือการคุ้มครองรถที่เอาประกันภัยในประเด็นสูญหายและไฟไหม้เพิ่มขึ้นมาด้วย เงื่อนไขหลักๆของความคุ้มครองคือ
– คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัยด้วย
– คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
– คุ้มครองความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
– ความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้าย การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล และ การประกันผู้ขับขี่
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 (Comprehensive) ประกันภัยประเภทนี้เป็นทีรู้จักกันดี เนื่องจากคนที่ซื้อรถยนต์คันใหม่ทุกท่านจะนิยมซื้อไว้เพื่อความอุ่นใจ ทั้งในแง่คุ้มครองผู้อื่นและคุ้มครองรถยนต์ของตัวเองด้วย ลักษณะการคุ้มครองจะคุ้มครองทั้งบุคคลภายนอกรวมทรัพย์สิน และคุ้มครองรถที่เอาประกันภัยด้วย เงื่อนไขหลักๆของการคุ้มครองก็คือ
– คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัยด้วย
– คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
– คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์
– คุ้มครองความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
– ความคุ้มครองเพิ่มเติมตามเอกสารแนบท้าย การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล และ การประกันผู้ขับขี่
การคุ้มครองชั้น 1 นี้ จะคุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไม่ว่ากรณีใดๆ รวมถึงผู้ขับขี่เป็นใครก็ได้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ แต่กรรมธรรม์บางบริษัทอาจจะมีการระบุชื่อผู้ขับขี่ โดยหากผู้ขับขี่ที่ไม่มีชื่อในกรรมธรรม์แล้วเกิดอุบัติเหตุ ความคุ้มครองชั้น 1 ก็ยังมีอยู่ แต่จะต้องเสียค่า Access Charge ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 1000 – 5000 บาท แล้วแต่กรณี
ความคุ้มครองแนบท้ายสัญญา
บางกรณีจะมีการคุ้มครองแนบท้ายสัญญาไปด้วยสำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แต่บางครั้งก็ไม่รวม ประกันแนบท้ายเหล่านี้อาจจะมีส่วนสำคัญในการประกันภัยรถยนต์ของคุณ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดีเช่น
– อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เช่น สเกิร์ท สปอยเลอร์
– เครื่องเสียงภายในรถยนต์
– ทรัพย์สินภายในรถยนต์
– กุญแจหาย หรือโดนขโมย
– การบริการลากจูง
การหาซื้อประกันรถยนต์นั้น นอกจากประเด็นของราคาเบี้ยประกันที่เรามองหาว่าถูกที่สุดแล้ว ควรดูชื่อเสียงของบริษัท ประวัติที่ผ่านมาของการเคลมประกัน โดยวิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบคือการสอบถามอู่ซ่อมรถใกล้บ้านว่า ประกันบริษัทใดจ่ายเร็วไม่จุกจิกบ้าง ท่านก็จะได้รับคำตอบที่แท้จริง แล้วนำเปรียบเทียบทั้งราคา และเงื่อนไขการคุ้มครอง เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.