โฉนดที่ดินหายจะทำอย่างไร
โฉนดที่ดินหายจะทำอย่างไร
ปกติแล้วคนในวัยหนุ่มสาวไม่ค่อยได้ถือโฉนดไว้กับตัวกันหรอก เพราะเป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ต้องซื้อบ้านเงินผ่อน โฉลดจึงถูกเก็บไว้อย่างดีโดยสถาบันการเงินเจ้าของเงินกู้ คนที่จะถือฉโนดที่ดินไว้กับตัวได้จึงมักจะเป็นคนสูงวัยที่ผ่อนบ้านหมดแล้ว หรือมีทรัพย์สินเหลือเฟือเป็นเจ้าของที่ดินหลายแปลงจึงได้ครองโฉนดฉบับจริงเอาไว้กับตัว
วันดีคืนดีหาโฉนดฉบับจริงไม่เจอ และจำเป็นต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นๆ จะดำเนินการอย่างไรถึงจะสามารถทำเอกสารสิทธิ์นี้ขึ้นมาอีกครั้ง วันนี้เรามีคำตอบให้นะครับ โดยแอดมินเขียนจากประสบการณ์จริงที่เคยไปขอออกใบแทนมาแล้ว
ออกใบแทนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
การที่เราทำโฉนดตัวจริงหายไป สำนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดฉบับใหม่ให้อีกได้ เนื่องจากการออกโฉนดนั้นหลังจากมีการรังวัดแล้ว จะมีการออกโฉนดมา 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งจะเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดิน อีกฉบับหนึ่งก็ส่งมอบให้กับเจ้าของที่ดิน
ดังนั้นหากฉบับที่อยู่ฝั่งเราหายไป ทางสำนักงานที่ดินจะมีการออกใบแทน โดยการคัดลอกข้อมูลรายละเอียดทั้งด้านหน้าและด้านหลังโฉนดขึ้นมาอีกฉบับแล้วให้เราถือฉบับนี้แทนฉบับเก่า ดังนั้นเวลาไปสำนักงานที่ดิน เขาจึงเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นการ ขอออกใบแทน
ปัญหาคือ สำนักงานที่ดินจะทราบได้อย่างไร ว่าท่านทำหายจริง ไม่ใช่ว่าท่านเอาโฉนดไปจำนองธนาคาร พอทางธนาคารยึดโฉนดไปแล้วจะมาขอออกใบแทนเพื่อจะไปกู้เงินนายทุนอีกรอบ หรือบางรายเอาโฉนดไปวางไว้กับนายทุนเงินกู้นอกระบบโดยไม่ได้มีการโอนชื่อจำนำ จำนองที่สำนักงานที่ดิน แล้วมาขอออกใบแทนเพื่อจะไปแอบขายให้คนอื่นเป็นต้น
บางรายโฉนดฉบับนั้นเป็นทรัพย์มรดก มีการฟ้องร้องกันอยู่ คนนึงเก็บตัวจริงเอาไว้ อีกคนแอบมาขอออกใบแทนแล้วแอบขายก็มี การขายออกไปแล้วหากผู้ซื้อนั้นซื้อหามาโดยสุจริตใจจะให้เขาขายคืนก็บังคับด้วยกฏหมายไม่ได้อีกปัญหาก็จะตามมาอีกยาว
ดังนั้นสำนักงานที่ดินมีกระบวนการในการแก้ปัญหานี้ก็คือ การขอออกใบแทน ท่านจะต้องไปที่สถานีตำรวจท้องถิ่น แจ้งความเอกสารหาย ยิ่งหากมีสำเนาเอกสารอยู่ ก็ควรจะระบุไว้ในใบแจ้งตวามเลยว่า โฉนดเลขที่เท่าไหร่ ได้หายไปจากที่ไหน เมื่อประมาณวันที่เท่าไหร่ เป็นต้น
ที่สำคัญต้องมีคนรับรอง 2 คน
สำนักงานที่ดินกำหนดให้ต้องมีคนรับรอง 2 คน ยิ่งเป็นคนที่เป็นที่รู้จักในท้องถิ่นนั้นๆ หรือเป็นข้าราชการจะยิ่งดี การรับรองนี้ไม่ใช่แค่เซ็นเอกสารอย่างเดียว เราต้องนำคนรับรองทั้งสองไปยังสำนักงานที่ดินด้วย และทั้งสองจะต้องนำบัตรประจำตัวตัวจริงไปด้วย
บุคคลที่รับรองเราทั้งสองคน จะกรอกเอกสารรับรอง พร้อมลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าพนักงาน เพื่อรับรองคนแจ้งหายว่า พฤติกรรมน่าเชื่อว่าหายจริง ไม่เป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่มีข่าวเรื่องเคยไปกู้เงินนายทุนอื่นๆ เจ้าพนักงานที่ดินจะซักถามพยานจนเป็นที่พอใจ คนที่กล้ารับรองเราก็เลยต้องเป็นคนที่มั่นใจว่ารู้จักเรา และรับรองเราได้ว่าโฉนดฉบับนี้หายไปจริง
เราเลยต้องหาคนที่ยินดีรับรองตัวเรา อาจจะต้องไปรับไปส่งพยานเหล่านี้เอง เพราะเขาต้องเดินทางมาทำธุระให้เรา และที่สำคัญหากเกิดปัญหาฟ้องร้องกันในภายหลังเนื่องจากโฉนดไม่หายจริงและเขามารับรองเรา บุคคลเหล่านี้ต้องเดินทางไปเป็นพยานศาลด้วยนั่นเอง
หลังจากที่เราแจ้งความและหาพยานได้อย่างน้อย 2 คนแล้ว ก็ไปนำเนินการที่สำนักงานที่ดิน ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปกติของทุกสำนักงานที่ดินคือ
– รับบัตรคิว
– ยื่นเรื่องคำขอ เจ้าหน้าที่สอบสวนซักถาม
– ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจหนังสือต่างๆ
– ลงบัญชีรับทำการ
– ตรวจอายัด
– เขียนใบสั่งค่าใช้จ่าย เราไปจ่ายเงินค่าธรรมเนียมแล้วนำใบเสร็จกลับมายื่น
– พิมพ์ประกาศ
– เจ้าของที่ดินรับประกาศ นำไปปิดในสถานที่ๆ กำหนด
– รอ 30 วัน ไม่มีผู้ใดมาโต้แย้ง เริ่มสร้างใบแทน
– เสนอเจ้าพนักงานเพื่อลงนาม และแจ้งให้เจ้าของมารับ
– แจกใบแทนให้เจ้าของ
จะเห็นได้ว่าเราต้องเผื่อกระบวนการทั้งหมดไว้ประมาณ 45 วัน โดยการปิดประกาศต้องใช้เวลา 30 วัน และกระบวนการทำใบแทนโฉนดต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเขียนแบบจะมีคิวยาวหรือไม่
ขั้นตอนสำคัญหลังจากที่ติดต่อที่สำนักงานที่ดินครั้งแรกแล้วก็คือการติดประกาศ เจ้าหน้าที่จะให้ประกาศมา หน้าที่ของเราคือต้องนำใบนั้นไปที่ว่าการอำเภอ หรือเขตท้องที่ เพื่อติดประกาศ เจ้าหน้าที่ประจำอำเภอจะทราบดีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เราแค่ไปแจ้งว่าขอติดประกาศของสำนักงานที่ดิน เขาก็จะชี้ไปยังเจ้าหน้าที่รับเรื่อง ให้เรารอรับเอกสารยืนยันจากเจ้าหน้าที่เพื่อนำกลับมาคืนยังสำนักงานที่ดินด้วย
หากที่ดินของเราตั้งอยู่ในเขตเทศบาล เราก็จะต้องไปที่เทศบาล และทำในลักษณะเดียวกัน และต้องได้เอกสารยืนยันที่เซ็นโดยหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ กลับมาด้วย บางครั้งเจ้าหน้าที่ๆสามารถลงนามได้ไม่อยู่ ก็ต้องรอให้เรียบร้อย บางหน่วยงานมีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ ด้วยประมาณ 10 – 20 บาท ผู้เขียนเองก็จ่ายไป 100 บาท บอกไม่ต้องทอน เขาก็จะอำนวยความสะดวกเรื่องวิ่งหาคนเซ็นให้เราอย่างรวดเร็ว
ถ้าเป็นบ้านนอกก็ต้องไปติดประกาศที่ที่ทำการกำนันในท้องถิ่น จุดมุ่งหมายเพื่อให้กำนันและชาวบ้านทราบว่าที่ดินนี้มีการออกใบแทน หากใครมีส่วนได้เสียก็ให้รีบไปค้านที่สำนักงานที่ดินนั่นเอง
เอกสารฉบับสุดท้ายเราจะต้องนำไปปิดไว้ ณ แปลงที่ดินที่เราต้องการออกใบแทน ซึ่งตรงนี้จริงๆ แล้วไม่มีใครตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเราไปปิดจริงหรือไม่ หรือตรงกับแปลงที่เราขอออกใบแทนจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของที่ดินก็ไม่ได้มาตรวจสอบอยู่แล้ว หลายคนก็เลยไม่ทำขั้นตอนนี้ ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นอะไร ผู้เขียนเองเอาไปปิดไว้แล้วถ่ายรูปมาให้ จนท ดู หากเป็นแปลงที่รู้จักกันดี ก็สมควรไปติดเอาไว้ ไม่เสียหาออะไร
หลังรอจนครบ 30 วันแล้ว ให้เราไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อกระตุ้นการทำงานอีกที เพราะครบ 30 วันแล้ว หากภาระของงานมีเยอะ ทางสำนักงานที่ดินอาจจะทำให้เราช้า ถ้าต้องการเร่งด่วนก็คงต้องไปบ่อยๆ จนเขาจำได้จะได้เร่งงานให้เราได้
สรุปการขอออกใบแทน
1. แจ้งความโฉนดหายที่สถานีตำรวจในท้องที่
2. นำพยาน 2 คนที่น่าเชื่อถือ พร้อมบัตรประจำตัวฉบับจริง ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานที่ดิน (ควรเป็นข้าราชการในท้องถิ่น หรือคนที่มีชื่อเสียง การนำบุคคลทั่วไปไปรับรอง เช่นญาติ อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา)
3. ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 500 บาท แต่อาจจะหมดค่าน้ำมันไปรับพยานซะมากกว่า
4. รอเอกสารประกาศ นำไปปิดตามที่ต่างๆ โดยเข้าไปยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้นๆ รอเอกสารยืนยันกลับมา แล้วนำมาส่งคืนให้สำนักงานที่ดิน
5. รอ 30 วัน เผื่อมีคนโต้แย้ง
6. ครบ 30 วัน ไปขอรับใบแทน
โฉนดที่ได้มา จะมีตัวแดงๆ ประทับด้วยคำว่า “ใบแทน” แจ้งให้คนซื้อทราบด้วยว่า มันสามารถใช้แทนโฉนดฉบับจริงได้ 100%
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.