รวมกระเป๋าเงิน : เงินทองในครอบครัว
รวมกระเป๋าเงิน : เงินทองในครอบครัว
หลังแต่งงานกันแล้ว ใครจะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน เงินเดือนได้มาแล้วอยู่ที่ใคร เท่าไหร่แล้วซื้ออะไรได้บ้าง คำถามสำคัญก็เลยจะเป็นว่า ต้องรวมเงินเป็นกระเป๋าเดียวกันหรือเปล่า
แต่งแล้วก็หย่า
จากตัวเลขทางสถิติจะพบว่า ครอบครัวที่มีปัญหาหย่าร้างส่วนมากจะมีปัญหาทางด้านการเงินเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนแต่งกระเป๋าใครกระเป๋ามัน ทราบแค่ว่าใครมีเงินเดือนเท่าไหร่ แต่พอหลังแต่งคือตอนที่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ต้องเผชิญกับความจริงที่อาจจะไม่เคยได้รับการเปิดเผย
ทั้งนี้เพราะหลังจากแต่งงานกันแล้ว การดูแลค่าใช้จ่ายไม่ใช่เฉพาะของตัวเองเท่านั้น แต่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องรับผิดชอบ รู้เห็น การใช้จ่ายเงินของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ถ้าจะให้การดำเนินชีวิตของคุณทั้งสองราบรื่น ต่างก็ควรจะรู้ว่าอีกฝ่ายมีสถานะทางการเงินที่แท้จริงอย่างไร เพราะภาพพจน์ตอนเป็นแฟนกันนั้นมันคนละเรื่องกันกับตอนนี้ ความจริงสิ่งเหล่านี้ควรศึกษากันก่อนแต่งด้วยซ้ำ เช่นควรรู้ว่าคู่รักของคุณนั้นเป็นหนี้เท่าไหร่ เป็นหนี้ใครบ้าง เป็นต้น (ปกติก่อนแต่งก็คงทราบกันดี แต่อย่าลืมขุดอะไรที่ลึกๆ ออกมาด้วย)
เริ่มต้นกระบวนการรวมกระเป๋า
- ติดตามรายจ่ายสักระยะเวลาหนึ่ง อาจจะสักเดือนสองเดือนว่า แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ควรทำบันทึกเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน สร้างตารางค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่นเงินเดือนรวมกันสองคนเท่าไหร่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่อคนเป็นเท่าไหร่ คุณก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายอะไรบ้าง
- การทำตารางค่าใช้จ่ายจะทำให้คุณทราบว่าแต่ละคนมีนิสัยใช้จ่ายเป็นอย่างไร คนนึงอาจจะฟุ่มเฟือย อีกคนอาจจะเข้าขั้นงก อันนี้คือความแตกต่างที่แต่ละคนต้องปรับเข้าหากัน ลองหันมาตั้งจุดหมายร่วมกันเช่น ต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถแล้วให้ ทุกคนพยามเข้าสู่จุดหมายนั้น คนที่ฟุ่มเฟือยก็จะมีจุดหมายและพยายามควบคุมตัวเอง คนที่งกก็จะยอมจ่ายเงินเมื่อถึงเวลาเพื่อชักจูงให้อีกฝ่ายเก็บออม หากคุณงกอยู่ตลอดใครเขาจะอยากออมเพราะคุณไม่มีวันซื้ออะไรให้เขา
- ทำรายการค่าใช้จ่ายตลอด 1 ปี ให้เหมือนคุณเป็นผู้จัดการบริษัทที่ต้องทำ Cash flow ตลอดปี ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าไฟน้ำ มักจะคาดเดาได้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าอาหาร เสื้อผ้า จะคาดเดาได้ยากแต่ก็พอจะคาดคะเนได้ ทำกระแสเงินสดในแต่ละเดือน และระบุค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก (เกิน 5000 บาท เป็นต้น) ให้เห็นชัดเจนว่าต้องจ่ายเดือนไหน เช่นเงินค่าประกันรถ ท่องเที่ยวประจำปี ไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ พยายามให้เป็นไปตามความจริง จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจะทำให้เกิดปัญหาตรงไหนบ้าง ถึงตอนนั้นจะหาเงินจากที่ไหน หากทำตามนี้ไม่ได้ชีวิตครอบครัวคงไม่ราบรื่นแน่นอน
- เงินเก็บฉุกเฉิน เพื่อลดความตึงเครียดหากคนใดคนหนึ่งต้องตกงาน หรือกรณีอื่นๆ จำนวนที่พอเหมาะก็คงจะเป็น 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน อย่าลืมว่าความเครียดของคู่ครองของคุณที่เกิดเวลามีปัญหาฉุกเฉิน จะเพิ่มความเครียดให้กับคุณอีกเท่าตัว
-
จัดสรร เวลามาพบปะกันเพื่อคุยเกี่ยวกับสถานะการเงินในครอบครัว ลูกๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อการเรียนรู้ของเขาเอง อาจจะพบปะกันทุกๆ อาทิตย์ครั้งละ 30 นาที หรือเดือนละครั้งเพื่อดูบัญชี คุณจะพบว่าคุณไม่ต้องเสียเวลาดูทีวีหรือตอนเที่ยวมานั่งคุยเรื่องปัญหาเงินๆ ทองๆ กันให้คนอื่นได้ยิน พยายามทำให้เป็นเหมือนการประชุมทางธุรกิจ มองถึงปัญหาการแก้ไข ช่องทางลงทุน นำเสนอข้อมูล อย่าให้วาระการประชุมนี้กลายเป็นที่ถกเถียง หรือด่ากระทบกระทั่งกัน ขอให้เป็นเวลาที่ต้องทำงานร่วมกันเหมือนกิจกรรมอย่างอื่น
ผู้เขียนเองจะใช้เวลาเดือนละครั้งในการแสดงรายการรายรับรายจ่าย Cash Flow และแนวโน้มอีก 3 – 6 เดือนข้างหน้าว่าสถานะการเงินเป็นอย่างไร จะสามารถซื้ออะไรได้บ้าง ภาระหนี้เป็นอย่างไรเป็นต้น
- บัญชีชื่อร่วม หรือ คนละบัญชี หลายคนหลายความคิด บางคนบอกว่าบัญชีร่วมหมายถึงความแนบแน่น รักกันอย่างมาก แต่หลายคนบอกว่าแยกบัญชีกันแสดงถึงความเป็นอิสระสำหรับคนยุคใหม ผู้เชี่ยวชาญต่างก็แนะนำว่า ให้เปิดบัญชีร่วมสำหรับค่าใช้จ่ายร่วมกันเช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และบัญชีเงินฝากสะสมร่วมกัน ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องนำเงินมาสมทบตามส่วนที่ตกลงกัน จากนั้นต่างๆฝ่ายต่างก็มีบัญชีของตัวเอง สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อยังคงรักษาความเป็นอิสระ เหมือนที่เคยเป็นมาช่วงใช้ชีวิตโสด
- โอนทรัพย์สินให้อีกฝ่ายหากอาชีพของคุณมีความเสี่ยงสูง เช่นนักธุรกิจ นักกฏหมาย นักการเมืองเป็นต้น คุณจะพบว่าบางครั้งการมีชื่อร่วมกันก็ไม่ดีเสมอไป หากอีกฝ่ายถูกฟ้องคุณก็อาจจะเสียทรัพย์ที่มีชื่อร่วมกันไปด้วย จะเห็นว่าเศรษฐีหรือนักการเมืองจะหย่าอย่างเป็นทางการเพื่อความมั่นคงของอีกฝ่ายหนึ่งหากเกิดปัญหา แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ คงไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอกนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้มากเกินไป
บางครั้งการดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูแลรับผิดชอบคนเดียว เช่นแม่บ้าน หรือคนที่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง บ้านเรามักจะเป็นผู้หญิงเสียมากกว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ปฏิบัติตาม แต่อย่าลืมว่าการให้ใครดูแลไม่สำคัญ สำคัญตรงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในเรื่องเงินทอง ว่ามียอดเงินเหลือเท่าไหร่ ลงทุนได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร
อย่าลืมว่าการแต่งงานก็คล้ายๆกับธุรกิจอย่างหนึ่ง คือการทำงานร่วมกันเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว มีทั้งที่ได้กำไรและขาดทุน มีทั้งผู้จัดการและรองผู้จัดการ (ฮิ ฮิ) ต่างคนก็ต่างมีบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง แล้วครอบครัวของคุณตอนนี้เป็นแบบไหน บริษัทจำกัด หจก หรือ หจก (ห่วยจนกะว่าจะหย่าอยู่แล้ว)
ภาพประกอบจาก kidspot.com.au
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.