นายทุนเงินกู้อ่วม โดนจ่ายภาษีย้อนหลังกว่า 400 ล้าน
จากนโยบายการปราบปราม นายทุนเงินกู้ อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ล่าสุดแหล่งข่าวจาก DSI ระบุว่ากำลังมีการเรียกนายทุนเงินกู้ในภาคอิสานรายหนึ่งให้มารับทราบข้อกล่าวหาเลี่ยงภาษี หลังพบคิดดอกเบี้ยโหด ยึดโฉนดชาวบ้านเพียบ คาดสรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง 10 ปีรวมกว่า 430 ล้านบาท
พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าในการสอบสวนนายทุนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อใช้มาตรการทางภาษีดำเนินการทางกฎหมาย ว่า
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน กองคดีภาษี ได้เรียกนายทุนเงินกู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับชาวบ้านใน จ.ชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียง ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร
ซึ่งจากสอบสวนพบว่านายทุนเงินกู้รายนี้มีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ชาวบ้าน โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้แล้วยังให้ลูกหนี้ลงชื่อในเอกสารเพื่อใช้โฉนดที่ดินและทรัพย์สินต่างๆ เป็นหลักประกันเงินกู้อีกด้วย
พ.ต.ท.วิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจสอบพบว่านายทุนดังกล่าวมีบัญชีเงินฝากจำนวนมากและได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยไม่ได้ปรากฏเอกสารการซื้อขายในลักษณะเสียค่าตอบแทนใดๆ ไม่ปรากฏแหล่งที่มาของรายได้ที่ชัดเจนที่จะมีกำลังทรัพย์ในการมีเงินสดหรือซื้อที่ดินและอสังหารมทรัพย์ดังกล่าวได้
ทาง DI จึงได้ประสานข้อมูลให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับปีภาษี 2550 – 2555 ในลอตแรกรวม 230 ล้านบาท และลอตที่ 2 สำหรับปีภาษี 2556 – ปัจจุบัน อีกประมาณ 200 ล้านบาท รวมระยะเวลา 10 ปี เป็นจำนวนเงินกว่า 430 ล้านบาท
โดยหลังจากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วเสร็จ ก็ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาภายโดยเร็ว ส่วนประเด็นความผิดอื่นๆ จะมีการสอบสวนขยายผลต่อไป
พ.ต.ท.วิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเอาผิดกับนายทุนเงินกู้นอกระบบนั้นจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับนายทุนเงินกู้รายใหญ่ที่ปล่อยกู้นอกระบบ 5 ราย ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเบื้องต้นตรวจสอบพบบัญชีทรัพย์สินกว่า 22 ล้านบาท และนายทุนเงินกู้ จ.เพชรบูรณ์ อีก 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาของรายได้ทั้งหมด
มาตรการดังกล่าวยังดำเนินการกับนายทุนเงินกู้ในจังหวัดอื่นๆ โดยหลังจากรวบรวมบัญชีทรัพย์สินเสร็จแล้วหากพบว่าเป็นรายได้ที่เกิดจากเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบชาวบ้าน ทาง DSI ก็จะส่งหลักฐานเพื่อส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง อันจะช่วยปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบให้หมดไป
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.