กองปราบทลายเครือข่ายปลอมเอกสารเงินกู้ หลอกเงินเหยื่อจ่ายค่าอนุมัติ
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับกองปราบ(รอง ผบก.ป.) พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.2 สส.บช.น. พร้อมตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมกันแถลงผลการจับกุม ผู้ต้อง 2 ราย ตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหา “ร่วมกันนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม” และผู้ต้องหาอีก 2 ราย ตามหมายจับศาลจังหวัดสกลนคร ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชนและแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริต และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ” โดยจับทั้งหมดถูกจับภายในบ้านพักที่จังหวัดชลบุรี
สืบเนื่องจาก คดีนี้มีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 3,000 ราย ได้เข้ามาร้องทุกข์กับตำรวจกองปราบ และตำรวจนครบาล ถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหาที่อ้างว่า สามารถติดต่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารปล่อยเงินกู้ หรือทำสินเชื่อกับธนาคาร หรือทำเอกสาร เพื่อประกอบการยื่นกู้ได้ และมีโอกาสในการผ่านการอนุมัติสูง โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินแตกต่างกันไปตามจำนวนเงินที่ต้องการจะกู้ โดยบางรายมีค่าดำเนินการสูงตั้งแต่ 3,000-300,000 บาท
ซึ่ง พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องหา จะโฆษณาตามเว็บไซท์ต่างๆ รวมถึงในสื่อโซเชียลม พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ เมื่อเหยื่อเงินกู้ ติดต่อไปก็จะขอชื่อ-นามสกุลของเหยื่อไปทำเอกสารปลอม เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือนจากบริษัท และรายการเดินบัญชีธนาคาร ก่อนส่งไฟล์เอกสารปลอมไปที่อีเมล์ของเหยื่อเพื่อให้เหยื่อไปยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร
แต่เมื่อเหยื่อนำเอกสารไปยื่นกู้ที่สถาบันการเงินต่างๆ ก็จะถูกปฏิเสธไม่อนุมัติเนื่องจากธนาคารตรวจสอบพบว่าเป็นเอกสารปลอม และทางกลุ่มผู้ต้องหาก็จะหายตัวไป
จากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาจะแบ่งหน้าที่กันเป็นขบวนการ ทำหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ เปิดบัญชีรับโอนเงิน และทำเอกสาร และจากการตรวจสอบ ไม่พบว่ากลุ่มคนร้ายเคยทำงานกับธนาคารมาก่อนแต่เป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ก่อเหตุกันมานานหลายปีแล้ว
ด้านนายปราโมทย์ ลลิตกิตติ ประธานชมรมต่อต้านการทุจริตบัตรเครดิต กล่าวว่า การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเครดิตต่างๆ ของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นมีขั้นตอนมากมาย ซึ่งการอนุมัติวงเงินสูงนั้นยิ่งทำให้การทำเรื่องขอกู้ไม่ง่าย
จึงอยากฝากเตือนประชาชนว่า การนำเอกสารปลอมมายื่นกับสถาบันการเงินก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้พบว่าสลิปเงินเดือนที่คนร้ายปลอมขึ้นมานั้นมีลักษณะเป็นสลิปคาร์บอน ระบุรายรับรายจ่ายเหมือนของบริษัทจริง แต่ยังมีจุดต้องสงสัยหลายอย่างที่ทำให้ธนาคารจับผิดได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการปลอมเอกสารเดิมๆ ไม่มีวิธีการแปลกใหม่แต่อย่างใด
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.