สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะแก้ได้จริงหรือ
สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะแก้ได้จริงหรือ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการสนับสนุนสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินสองแห่งคือ ธนาคารออมสิน และ ธกส. แห่งละ 5,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ยามฉุกเฉินให้กับประชาชนทั่วไปรายละไม่เกิน 50,000 บาท
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ซึ่งเราคงได้พบเห็นข่าวคราวอยู่ทั่วไปถึงการปล่อยกู้จากนายทุนเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และมีการทวงหนี้ที่ผิดกฏหมาย
รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายในหลายๆมิติ นั่นก็คือการหาแหล่งเงินกู้ให้กับประชาชนที่เดือดร้อนต้องการใช้เงินในยามจำเป็นผ่านโครงการเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยนำเสนอโครงการ นาโนไฟแนนซ์ มาแล้ว เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในการกู้เงินในระบบโดยมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน โดยจะปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งพบว่าไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าที่ควร
จากตัวเลขยอดเงินกู้ในแต่ละเดือนที่ออกมา มีการยื่นกู้มากก็จริง แต่วงเงินอนุมัติจากสถาบันการเงินที่ประกอบกิจการนาโนไฟแนนซ์นั้นออกมาน้อยนิด และส่วนใหญ่จะอาศัยปล่อยกู้ให้กับฐานลูกค้าเดิมที่มักจะนำรถยนต์มาเปลี่ยนเป็นเงินสดด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (นาโนไฟแนนซ์ สามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 36% ต่อปี)
วัตถุประสงค์ของการปล่อยกู้ตามโครงการนาโนไฟแนนซ์นั้น เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบ แต่ปัญหาคือยื่นกู้ได้ยาก และสถาบันการเงินมักจะคัดเลือกผู้กู้ทำให้ยอดการปล่อยกู้ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
ครั้งนี้จึงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ นั่นก็คือ พิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นการปล่อยกู้เพื่อการอุปโภคบริโภค ด้วยวงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการจับจ่ายใช้สอยทั่วไปไม่จำกัดลักษณะการนำเงินกู้ไปใช้เหมือนนาโนไฟแนนซ์
ทางรัฐบาลจึงผลักดันให้นายทุนเงินกู้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นเพื่อให้สามารถควบคุมได้ โดยให้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น และสามารถปล่อยกู้ได้ในพื้นที่จังหวัดของตัวเองเท่านั้น และคิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% ต่อปี หรือ 3% ต่อเดือน
ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ที่ส่วนหนึ่งตกอยู่ในวังวนของดอกเบี้ย ทบต้นทบดอกจนยากที่จะหลุดออกมาได้
โครงการพิโคไฟแนนซ์ จะช่วยได้แค่ไหน นายทุนจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในระบบมากขึ้นหรือไม่ก็คงต้องรอดูตัวเลขการรายงานผลจากทางรัฐบาลกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนมีช่องทางให้กู้เพิ่มขึ้น ก็จะมีหนี้เพิ่มขึ้น และสุดท้ายก็อาจจะหันไปพึ่งหนี้นอกระบบอีกรอบเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ในระบบ
ดังนั้นการจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลจะต้องสนับสนุนสินเชื่อในระบบที่ไม่มีกฏเกณฑ์ยุ่งยาก และต้องสามารถปล่อยกู้ได้เร็วตามความต้องการ และที่สำคัญต้องให้ความรู้กับประชาชนในการบริการจัดการทรัพย์สินของตัวเองตั้งแต่เล็กๆ รู้จักพอเพียง และบริโภคตามกำลังความสามารถของตนเอง ไม่ใช่กู้มาเพื่อใช้จ่ายให้หน้าตาทัดเทียมคนอื่นแล้วที่เหลือค่อยหาวิธีมาผ่อนหนี้ ผ่อนดอกจนไม่สามารถหลุดจากวังวนการเป็นหนี้ไปได้
นั่นหมายถึงว่า ไม่ว่ารัฐจะเปิดตัวโครงการอะไรก็ตามเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มันจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่ให้ความรู้กับประชาชน แล้วสร้างค่านิยมการปลอดหนี้ พร้อมสร้างกลไกการบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีต้องการใช้เงินยามฉุกเฉินเอาไว้ด้วย
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.