อาชีพอิสระก็กู้เงินซื้อบ้านได้โดยง่าย หากรู้วิธี
อาชีพอิสระก็กู้เงินซื้อบ้านได้โดยง่าย หากรู้วิธี
ผู้เขียนเองต้องการกู้เงินซื้อบ้านเพิ่มเติม จากเดิมกู้เงินซื้อบ้านไปแล้ว 2 หลัง ต้องการหลังที่ 3 เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด และบ้านหลังเดิมคับแคบ แต่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว หันมาประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งทุกอย่างก็ฉลุยหากเราทำถูกวิธี ทำอย่างไรมาดูกันนะครับ
ก็ต้องขอเท้าความก่อนนะครับว่า บ้านที่ต้องการจะซื้อตอนประกอบอาชีพอิสระนี้ไม่ใช่บ้านหลังแรก แต่เป็นหลังที่ 3 แล้วที่ต้องการยื่นกู้ ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วก็เคยยื่นกู้บ้านหลังหนึ่งใน กทม ด้วยวงเงินกู้ 1.6 ล้านบาท ก็ผ่อนมาเรื่อยๆ จนเงินต้นเหลือเพียงประมาณ 4 แสนบาท
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่รีบผ่อนให้หมด ทำไมผ่อนมาตั้ง 20 ปี ผมมีหลักคิดดังนี้ครับ หากผ่อนหมดเร็ว แต่ความต้องการใช้เงินด่วน จะเอาบ้านไปเข้าธนาคารอีกรอบดอกเบี้ยจะแตะ 10% เพราะต้องทำในลักษณะบ้านแลกเงิน แต่หากผ่อนไปเรื่อยๆ ขอลดอัตราดอกเบี้ยอยู่เรื่อย ดอกเบี้ยก็จะอยู่ที่ระหว่าง 4 – 6% ต่อปีเท่านั้น
เงินส่วนที่เหลือที่เคยคิดว่าจะผ่อนบ้าน ก็เก็บไว้ แล้วนำไปซื้อที่ดินได้หลายแปลง ซื้อเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็มี 5 ปีที่แล้วก็มี แต่ละแปลงที่ซื้อไว้ตาม ต่างจังหวัด (ที่มีญาติคอยดูแล) จากเดิมเคยซื้อที่ประมูลจากกรมบังคับคดีบ้าง จากชาวบ้านที่ต้องการขายด่วนๆบ้าง เดิมไร่ละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อมาก็มีถนนตัดผ่าน คนมาขอซื้อไร่ละ 200,000 ยังไม่ขายเลยครับ ส่วนต่างผลตอบแทน มากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับธนาคารหลายเท่าตัวนัก
กลับมาที่เรื่องการกู้ซื้อบ้านต่อ ต่อมาก็ กู้เงินซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังจากกู้หลังแรกไปแล้ว 10 ปี ตอนนั้นก็ยังทำงานประจำอยู่แล้วก็กู้กับธนาคารเดิม ประวัติการผ่อนบ้านหลังแรกไม่เคยผิดนัดแม้แต่ครั้งเดียว บัตรเครดิตก็ไม่เคยผิดนัด ไม่สมัครบัตรกดเงินสดพร่ำเพรื่อ อาศัยการบริหารเงินสดอย่างเดียว
ยอดเงินกู้บ้านหลังที่ 2 อยู่ที่ 1 ล้านบาท รวมแล้วยอดเงินกู้อยู่ที่ 2.6 ล้านบาท ตอนนั้นผ่อนหลังแรกไปแล้วเหลือราวๆ ล้านนิดๆ ตีว่ายอดเงินทั้งสองหลังเหลือประมาณ 2 ล้านบาท และแล้วก็ถึงคราวให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต นั่นคือลาออกจากงานประจำ
โดยตอนที่ลาออกจากงานประจำนั้น ยังมีภาระผ่อนบ้านสองหลัง และรถยนต์อีกสองคัน แต่ตอนขอสินเชื่อรถยนต์นั้นก็ยังทำงานประจำอยู่โดยซื้อก่อนลาออกไม่ถึง 6 เดือน ดีที่ว่าดาวน์เยอะ ผ่อนน้อย โดยทั้งสองคันผ่อนเพียงประมาณ 10,000 บาทเท่านั้น
หลังจากออกจากงานประจำ ก็มาเริ่มธุรกิจของตัวเอง แบบไม่จดทะเบียนใดๆ ซึ่งพอทำมาได้ซัก 4 ปี ก็เริ่มคิดว่าต้องขยับขยายกิจการ โดยการที่ต้องเล็งหาสถานที่ประกอบการใหม่ เนื่องจากที่เก่านั้นเช่าเขาอยู่ เพราะหากจะซื้อก็คิดว่าออกตัวยาก ทำเลยังไม่ดีพอที่จะซื้อไว้ถาวรได้
เมื่อคิดหาสถานที่ใหม่ ก็เลยคิดว่าต้องกู้เงินธนาคารอีกแน่ๆ เพราะเงินเก็บตัวเองคงไม่พอ ไหนจะค่าที่ ไหนจะค่าก่อสร้าง ค่าตบแต่งอีก เลยเริ่มตัดสินใจทำบัญชี
เริ่มทำบัญชีรายรับ
ก่อนที่จะมีการทำบัญชี ก็อาศัยการฝากเงินรายรับไว้ที่บัญชีหนึ่ง แล้วมีบัญชีรายจ่ายอีกบัญชีหนึ่ง ข้อแนะนำสำหรับคนประกอบอาชีพอิสระก็คือ ควรจะเปิดบัญชีเงินฝากไว้มากกว่า 2 บัญชี เพื่อการจัดสรรและการจัดการที่ง่าย และสามารถตรวจสอบได้
ตัวผู้เขียนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ประมาณ 12 บัญชี แยกลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่นบัญชีสำหรับหักค่าผ่อนบ้าน บัญชีสำหรับหักค่าไฟ บัญชีเล่นหุ้น บัญชีรายรับ บัญชีค่าใช้จ่ายรายวัน บัญชีเงินเก็บระยะสั้น บัญชีเงินเก็บระยะยาว บัญชีฝากลืม บัญชีสำหรับการสะสมเพื่อซื้อของที่ชอบ เป็นต้น
การแยกบัญชีทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าบัญชีไหนมีเงินเหลือเท่าไหร่ ไม่งั้นพอเห็นเลขในบัญชีเยอะๆ จะนึกไม่ออกว่ามีเงินอะไรอยู่ในบัญชีบ้าง ไปๆมาๆ อาจจะลืมผ่อนบ้านผ่อนรถซะงั้น
ดังนั้นหากมีอาชีพอิสระ แล้วต้องการกู้เงินซื้อบ้าน ก็ต้องแยกบัญชีให้ชัดเจน เริ่มง่ายๆจากการใช้สองบัญชี คือบัญชีรายรับรายจ่ายของกิจการ กับบัญชีส่วนตัว
ทุกรายได้ที่เข้ามา หรือรายจ่ายที่ต้องใช้เพื่ออาชีพอิสระของเรา ก็ควรใช้บัญชีเดียวเช่นให้ชื่อว่าบัญชี A โดยเมื่อมีรายรับเข้ามา ก็ให้ลงสมุดบันทึกรายรับของเราในแต่ละวันว่ามีรายรับเท่าไหร่ แล้วพอสิ้นวัน ก็นำเงินจำนวนนั้นไปฝากเข้าบัญชี A หากต้องซื้อของหรือใช้จ่ายเพื่อกิจการของเรา ก็ให้ถอนเงินสดจากบัญชี A มาเป็นก้อนๆ แล้วลงบัญชีรายจ่ายเอาไว้ พอเงินหมดก็เบิกมาใหม่อีก ห้ามหักลบกลบหนี้เป็นรายวันแล้วฝากส่วนต่าง เพราะการทำแบบนี้จะทำให้เราไม่ทราบกระแสเงินเข้าที่แท้จริง
ตัวอย่างก็คือ ทุกๆ 5 วัน เช่นเริ่มจากวันที่ 1 ครั้งต่อไปก็คือวันที่ 5 ครั้งต่อไปคือวันที่ 10 ก็ถอนเงินสดจาก บัญชี A มาตามสมควร เช่นรอบละ 20,000 บาท มาไว้เป็นค่าซื้อของ หากต้องใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ให้ถอนมาเพิ่ม ห้ามนำเงินรายได้จากการขายมาใช้ก่อนเพราะจะทำให้เราไม่ทราบยอดขายในวันนั้นๆ
พอมีรายได้ในวันนั้นเข้ามา เช่นรายการต่างๆ รวม 15,000 บาท ก็ลงบัญชีรายรับทุกรายการ แล้วรวมเงิน แล้วนำเงินไปฝากเข้าบัญชีให้ครบ 15,000 บาท หากวันนั้นซื้อของไปเพียง 5,000 ก็จ่ายจากเงินที่ถอนมาก่อนหน้านี้ แล้วลงบันทึกไว้ว่ายังเหลือเงินสดที่เป็นค่าใช้จ่ายอีก 15,000 บาท
วันต่อมา มีรายได้รวมอีก 10,000 บาท ก็ลงบัญชีรายรับให้ครบถ้วน แล้วนำเงินทั้งก้อนไปฝากบัญชี A ส่วนค่าใช้จ่ายหากวันนี้ หากต้องจ่ายไป 20,000 บาท ด้วยเหลือจากเมื่อวาน 15,000 ก็ต้องไปถอนมาอีก 5,000 บาท ห้ามนำเงิน 10,000 บาทที่เป็นรายได้มาสมทบ เพราะจะทำให้เหลือตัวเลขรายรับเพียง 5,000 เพราะต้องใช้ในการซื้อของไป 5,000 การทำแบบนี้นานๆ เข้า เราจะงงว่าวันนั้นรายรับ 5,000 แค่นั้นหรือ เวลาขอกู้ธนาคาร เขาจะเห็นเงินฝากเราเพียง 5,000 นึกว่าเราขายเพียง 5,000 จริงๆ เราขายได้ 10,000 บาท ดังนั้นก็ควรฝาก 10,000 บาท แล้วถอนกลับมา 5,000 เพื่อสบทบในการซื้อของ
บางคนอาจจะมองว่าการทำแบบนี้ยุ่งยาก ต้องฝากและถอน ทำไมไม่หักลบกลบหนี้ไปเลย อย่าลืมว่าสถาบันการเงินเขามองที่รายรับว่าแต่ละวันรับเท่าไหร่ จ่ายเท่าไหร่ กระแสเงินสดเป็นอย่างไร ตัวเลขสูงๆมันบ่งบอกถึงกิจการที่ไปได้ดี มีรายรับต่อเนื่อง
ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ หากแต่ละวันคุณหักลบรายรับกับรายจ่าย แล้วนำเงินไปฝากธนาคารในบัญชี A ด้วยยอดเงิน 1,000 3,000 2,000 บาท ตามลำดับ รวมแล้วทั้งเดือนคุณอาจจะมีกำไรที่ 50,000 บาท
แต่หากคุณฝากเงินรายได้ในแต่ละวัน 20,000 18,000 25,000 และเงินถอนในแต่ละวัน 19,000 15,000 23,000 ตามลำดับ ลักษณะแบบนี้จะทำให้เห็นว่าแต่ละเดือนคุณมีรายรับประมาณ 500,000 บาท รายจ่ายรวมแล้ว 450,000 บาท กำไรต่อเดือนที่ 50,000 บาทเท่ากัน แบบไหนจะดูดีกว่ากันสำหรับสถาบันการเงิน
แบบแรกตัวเลขในบัญชีเงินฝากดูเหมือนว่าคุณขายของได้เล็กๆน้อยๆ แต่แบบหลังทำให้เห็นว่าคุณทำจริงๆจังๆ ยอดขายแต่ละเดือนครึ่งล้านนี่ไม่เบา มีแนวโน้มที่ยอดขายจะสูงขึ้นได้ และมีแนวโน้มที่คุณจะลดค่าใช้จ่ายลงได้และจะทำให้คุณได้กำไรมากขึ้น และดูน่าเชื่อถือว่าคุณทำได้จริงจัง ตั้งใจทำ ถึงจะมียอดขายขนาดนี้ได้ ภาพที่มองจากภายนอกจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แยกบัญชีรายจ่ายส่วนตัว
ตัวอย่างข้างต้นคือการแยกบัญชี A ออกมาเพื่อเป็นรายรับรายจ่าขของกิจการ เพื่อให้มองตัวเลขได้ง่าย ชัดเจน ตรวจสอบได้ เราจึงไม่ควรใช้บัญชี A สำหรับชีวิตประจำวันของเรา เช่นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ
วิธีการคือ เปิดบัญชี B ขึ้นมา และทุกๆ สิ้นเดือนคุณโอนเงินจากบัญชี A มาเป็นจำนวนคงที่เสมือนเป็นเงินเดือนของคุณ เช่นตั้งเงินเดือนไว้ 30,000 บาท เงินจำนวนนี้จะเช้ามายังบัญชี B และคุณก็ใช้บัญชี B นี้สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมแซมรถ หรืออื่นๆ หากเหลือก็คงค้างไว้ในบัญชี B นี้ และเมื่อเหลือมากขึ้น คุณก็โอนไปเป็นบัญชีเงินเก็บ นั่นหมายถึงคุณต้องเปิดบัญชี C เอาไว้สำหรับการนี้
เมื่อครบสิ้นเดือน ก็โอนเข้ามาอีก 30,000 บาท ทำให้เสมือนเป็นบัญชีเงินเดือนของคุณสมัยที่คุณเคยทำงานประจำ หากเงินใช้จ่ายไม่พอ ก็ไปใช้เงินจากบัญชี C โอนกลับเข้ามายังบัญชี B ห้ามนำเงินจากบัญชี A มาใช้เด็ดขาด ยกเว้นไม่พอจริงๆ คุณก็ต้องลงรายการว่าเป็นการยืมเงินของธุรกิจมาใช้ แล้วต้องผ่อนคืน หรือไม่ก็พิจารณาขึ้นเงินเดือนตัวเองหากพบว่าช่วงหลังๆ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกเดือน
อย่างของผู้เขียนก็จะมีบัญชี A,B,C เพื่อการนี้ และยังมีบัญชี D เพิ่มขึ้นมา เพื่อสะสมกำไรของกิจการเอาไว้ในแต่ละเดือน
เนื่องจากแต่ละเดือนกำไรจะได้ไม่เท่ากันมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อจ่ายเงินเดือน 30,000 บาทแล้ว กำไรส่วนที่เหลือจะโอนเข้าบัญชี D โดยถือเป็นกำไรสะสมของกิจการ บัญชี A ก็จะเหลือแค่ต้นทุนหมุนเวียนต่อไป ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าแต่ละเดือนกำไรมากน้อยเท่าไหร่ ด้วยการดูกระแสเงินในบัญชี D (บวกกับเงินเดือนในบัญชี B)
เวลาเรายื่นขอกู้เงินซื้อบ้าน เราก็นำเสนอรายละเอียดการเดินบัญชีของกิจการคือบัญชี A และบัญชีเงินกำไรสะสมของกิจการคือบัญชี D ซึ่งจะเห็นการไหลของเงินชัดเจนว่ากิจการเป็นอย่างไร แต่หากทางสถาบันการเงินต้องการตรวจสอบการใช้จ่ายเช่นภาระหนี้สิน ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สามารถดูได้จากบัญชีเงินเดือนของเราคือ บัญชี C เหมือนตอนสมัยที่เราเคยทำงานประจำที่สถาบันการเงินขอดูบัญชีเงินเดือน เพื่อวิเคราะห์ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าใด แต่ละเดือนเหลือเงินพอที่จะผ่อนได้หรือไม่
ยื่นขอสินเชื่อ พร้อมรายการเดินบัญชี ทั้งบัญชีรายรับรายจ่าย และสมุดบัญชีธนาคาร
ตอนยื่นกู้ซื้อบ้านหลังที่ 3 นั้นผู้เขียนได้ผ่อนรถยนต์ทั้งสองคันหมดแล้ว เงินเก็บของกิจการก็จะนำไปซื้อที่ดินหรือบ้านหลังอื่นๆไว้เป็นทรัพย์สินเพิ่มมูลค่า เพราะการฝากธนาคารอย่างเดียวเงินเฟ้อจะทำให้เงินสดเราด้อยค่าลงทุกวัน
หลังจากติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ต้องการกู้ ก็จะนำเอกสารต่อไปนี้ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สัญญาจะซื้อจะขาย
– สำเนาโฉนดแปลงที่บ้านหลังนั้นสร้างใกล้จะเสร็จ
– สำเนาบัตรประชาชนผู้ขาย
– บัญชีรายรับรายจ่ายของกิจการ
– รายชื่อลูกค้า สำเนาส่งของ บิลซื้อของ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ
– รายการเดินบัญชีธนาคาร บัญชี A,C,D
– สำเนาโฉนดที่ดินทุกฉบับที่มี โดยพกตัวจริงไปให้ จนท ธนาคารถ่ายเอกสารและเรารับรองสำเนา
– เล่มทะเบียนรถยนต์ปลอดภาระฉบับจริง จนท ธนาคารจะถ่ายเอกสารและให้เรารับรองสำเนา
– เอกสารอื่นๆที่แสดงถึงที่มาของรายได้ หรือการเสียภาษี
โดยหลังจากยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อวิเคราะห์ข้อมูลเบี้องต้นแล้ว จะซักถามเราถึงที่มาที่ไปของเงินว่ามีรายได้อะไรบ้าง รายจ่ายอะไรบ้าง ทาง จนท.ธนาคารสาขาจะทำใบสรุปรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน รวมไปถึงการถามช้อมูลส่วนตัวต่างๆ
จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนัดไปยังฝ่ายหลักประกัน เพื่อทำการประเมินหลักประกัน โดยแต่ละธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากันระหว่าง 3,000 – 4,000 บาท โดยหากการก่อสร้างใกล้เสร็จแล้วคือเดินสายไฟ ใส่หลอดไฟสวิทช์ปลั้กครบถ้วน ติดตั้งสุขภัณฑ์เรียบร้อย ก็จะมีการประเมินราคาเพียงอย่างเดียว แต่หากบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็อาจจะมีการนัดตรวจสอบบ้านอีกครั้งจากฝ่ายหลักประกัน ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกประมาณไม่เกิน 2000 บาท
ทั้งนี้แล้วแต่ธนาคาร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรอราคาประเมินจากฝ่ายประเมินหลักประกันก่อน ซึ่งเป็นคนละแผนกกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อที่เราติดต่อ หากเป็น ต่างจังหวัด ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่จากอำเภอเมืองทำหน้าที่ประเมินหลักประกันในแต่ละจังหวัด
ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อจะมาเยี่ยมชมกิจการ หากเป็นร้านค้าก็จะมาที่ร้าน หากทำ home office ก็จะมาที่บ้าน ทั้งนี้เพื่อถ่ายรูปประกอบไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สินค้า โกดัง สำนักงานที่เราทำงาน หรืออื่นๆ โดยจะมีการเซลฟี่รูปของพนักงานที่เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อคนนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้เพี่อป้องกันการนำภาพกิจการในอดีตมาใช้
หลังจาก เจ้าหน้าที่สินเชื่อได้รูปถ่าย และทำสำนวน ข้อมูลสรุปรายได้ และข้อคิดเห็นอื่นๆ เพื่อส่งไปยังสำนักงานใหญ่ ในขณะที่ฝ่ายประเมินหลักประกันจะส่งราคาประเมินกลับไปยังสำนักงานใหญ๋เช่นกัน นั่นเพราะแม้ความสามารถการผ่อนชำระเรามีสูง เราอาจจะมีศักยภาพในการกู้ได้มาก แต่ก็จะต้องไม่เกินสัดส่วนของหลักประกันตามที่ทางธนาคารกำหนด
เช่นธนาคารอาจจะประเมินว่าเราสามารถผ่อนชำระได้ตลอดระยะเวลากู้ด้วยวงเงินสูงถึง 3 ล้านบาท แต่หากหลักประกันมีมูลค่าแค่ 2 ล้าน ธนาคารอาจจะปล่อยกู้ให้เพียง 80% ของมูลค่าหลักประกัน ธนาคารก็จะอนุมัติสินเชื่อเพียง 1.6 ล้านบาทเท่านั้น
รอสายโทรศัพท์จาก สำนักงานใหญ่
เมื่อทางสำนักงานสาขาส่งเอกสารต่างๆไปทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานใหญ่แล้ว หลังจากหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อและผู้จัดการสาขาเซ็นเอกสารครบถ้วน และทางฝ่ายหลักประกันส่งเอกสารประเมินราคาไปแล้ว
ทางเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อส่วนกลางที่ กทม (หรือภาค แล้วแต่วงเงินและอำนาจอนุมัติ) ก็จะติดต่อสอบถามข้อมูลกลับมายังตัวเรา (บางธนาคารอาจจะไม่โทร) ส่วนมากแล้วจะเป็นการสอบทานว่า เจ้าหน้าที่สินเชื่อทำตัวเลขขาดตกบกพร่องอะไรบ้างหรือไม่
กรณีของผู้เขียนเอง จนท ส่วนกลางจะโทรมาสอบถามว่าได้จดทะเบียนหรือไม่ ก็แจ้งไปว่าไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทแต่อย่างใด แต่มีการยื่นเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ จากนั้นก็จะสอบถามถึงลูกค้า รายได้ต่อเดือน รายจ่ายต่อเดือน ซึ่งการซักถามจะดูออกหากข้อมูลที่เราให้ไปไม่เป็นจริง ดังนั้นจึงไม่ควร make ข้อมูลอะไรใดๆ เพราะหากตอบคำถามติดๆขัดๆ อาจจะเชื่อได้ว่าเราไม่บริสุทธิ์ใจได้
จากนั้นก็แค่รอฟังผลว่าทางสำนักงานใหญ๋จะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่
ผลอนุมัติสินเชื่อ หลังจากผ่านไป 2 วัน
นับจากวันที่ทาง ส่วนกลางโทรมา ทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อสาขาก็ไลน์มาแจ้งว่า สินเชื่ออนุมัติแล้วให้เข้าไปทำสัญญาทันที ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการของระบบธนาคาร นั่นคือ
– เราไปเซ็นยืนยัน เพื่อตกลงว่ารับสินเชื่อตัวนี้ โดยหากเราไม่เป็นเซ็นภายในสองเดือน ข้อเสนอการอนุมัติสินเชื่อก็มีอันตกไป หากเราต้องการใหม่ก็ต้องยื่นเรื่องใหม่
– นัดวันโอนกับทางผู้ขายและทางธนาคารว่าไปเจอกันที่ สนง ที่ดินท้องที่ในวันใด
– วันโอนหากมีคู่สมรส เราต้องนำเอกสารสำเนาทะเบียนสมรส สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส ไปด้วย และเล่มทะเบียนบ้าน (ถ้ามี) ไปยังสำนักงานที่ดินด้วย
– เตรียมเงินค่าโอน ค่าจดจำนอง (1%) ตามที่ทางผู้ขายและที่ธนาคารแจ้งไป
– เซ็นเอกสารเสร็จ โอนเสร็จ ธนาคารก็จะเก็บโฉนดตัวจริงเข้าสารบบไป เราจะได้แค่สัญญาซื้อขาย สัญญาจดจำนอง และสำเนาโฉนดเอาไว้เท่านั้น
บทสรุป
แม้ผู้เขียนไม่ได้ทำงานประจำ ก่อนหน้านี้ก็ยังกังวลว่าจะกู้เงินซื้อบ้านได้หรือไม่ ซึ่งก็พบว่าถ้าเรามีวินัยทางการเงินที่ดี ทำบัญชีแยกประเภทรายรับรายจ่ายให้เห็นชัดเจน แสดงที่มาที่ไปของรายได้ และแนวโน้มในอนาคตว่าสามารถผ่อนชำระได้ ก็จะได้รับอนุมัติสินเชื่อแน่นอน
แต่ผู้เขียนเองยื่นไป 2 ธนาคาร และด้วยสถานการณ์ในช่วงนั้นธนาคารไม่ค่อยปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากนัก เลยต้องยอมเสียค่าประเมินไปสองที่ สุดท้ายก็ได้รับอนุมัติมาจากสองสถาบันการเงิน และเลือกเอาข้อเสนอที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด โดย จนท สินเชื่อฝ่ายที่เราไม่เลือกเขาก็เข้าใจว่าเราย่อมเลือกตัวเลือกที่ดีกว่าอยู่แล้ว
ขอให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระทุกท่าน อย่าท้อถอยนะครับหากถูกปฏิเสธสินเชื่อ เราจะต้องทำการบ้าน นั่นคือเตรียมเอกสารให้ดีๆ ตามคำแนะนำด้านบนแล้วจะมีโอกาสได้รับอนุมัติสูง
ผู้ประกอบการบางราย รายได้ดี กำไรงามก็จริง แต่ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงความมีวินัยทางการเงิน หรือการแยกบัญชีให้เห็นที่มาที่ไปชัดเจน เลยอาจจะเสียโอกาสในการขอสินเชื่อไปได้ทั้งๆ ที่ศักยภาพในการขอกู้เต็มเปี่ยมซึ่งนับว่านเสียดายในโอกาสมาก
เราจึงควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย และฝากเงินที่เป็นรายได้เข้าบัญชีให้สอดคล้องกับรายได้จริง อย่าหักลบกลบหนี้ แนวทางนี้ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรหากต้องการสินเชื่อจากระบบธนาคารนะครับ
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.