ค่าไฟเดือนเมษายนแพงหลายเท่า เพราะเหตุใด
ช่วงนี้ถือเป็นข่าวระดับประเทศสำหรับการที่ค่าไฟฟ้าพุ่งพรวดจนน่าตกใจ บางรายเดือนก่อนๆค่าไฟตกเดือนละไม่ถึงพัน มาเดือนนี้ค่าไฟพุ่งพรวดไปถึงเกือบหมื่นก็มี ทำให้ใครหลายๆคน ทั้งคนดังคนไม่ดังต่างออกมาโพสลงโซเชี่ยลว่าค่าไฟแพงขึ้นเพราะเหตุใด วันนี้เรามีคำตอบให้นะครับ
ค่าไฟแพงก็เพราะใช้ไฟมาก
เนื่องจากมาตรการให้ทุกคนอยู่บ้านในช่วงที่ COVID-19 ระบาด หลายคนก็ต้องพึ่งพาการทำงานจากที่บ้านหรือ Work Form Home ทำให้ต้องมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆมากขึ้นเลยอาจต้องรับสภาพว่าค่าไฟต้องเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย หลายคนบอกว่าจากที่การไฟฟ้าคืนค่าประกันการใช้ไฟให้ราวๆ 2000 บาทนั้น เหมือนว่าทางการไฟฟ้าเอาเงินส่วนนั้นคืนไปผ่านทางค่าไฟฟ้าซะงั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าไฟที่แพงขึ้นนั้นมาจากการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วการอ่านค่าไฟจากมิเตอร์ไฟฟ้าโดยตัวแทนของการไฟฟ้านั้น พออ่านค่าแล้วก็มีเครื่องพิมพ์ออกมาจากที่เอวเลย ส่วนน้อยที่เป็นการเขียนตัวเลขแบบสุ่มแล้วจะอาศัยการปรับปรุงค่าที่อ่านได้ในเดือนหลังๆ
ดังนั้นหากเราได้รับบิลค่าไฟฟ้าแล้ว ก็เพียงเดินไปดูมิเตอร์อ่านหน่วยไฟฟ้าที่เสาทันที จะพบว่าเป็นเลขเดียวกัน แสดงว่าค่าไฟที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เป็นการมั่วบิลหรือเขียนเลขลอยๆมา แต่เกิดจากการที่เราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในช่วงนี้นั่นเอง
เหตุการณ์แบบนี้เกิดเป็นประจำในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี หากเราค้นคำว่า ค่าไฟแพง ใน google ในยามปกติที่ไม่ข่าวเรื่องค่าไฟแพง จะพบการบ่นเรื่องนี้ทุกๆเดือนเมษายนของทุกปี นั่นเพราะอากาศด้านนอกร้อนมากกว่าเดือนอื่นๆ แล้วทำให้เราต้องใช้ไฟฟ้าเปลืองมากขึ้น
ค่าไฟพุ่งสูงจากสาเหตุอะไร
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าค่าไฟที่พุ่งสูงปรี้ดนั้นมาจากการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น แต่หลายคนอาจจะงงๆว่า กิจวัตรประจำวันของตัวเองก็ยังเหมือนเดิม บางคนกลางวันไม่ได้อยู่บ้านเสียด้วยซ้ำแต่ทำไมค่าไฟแพงขึ้น จำนวนชั่วโมงของการใช้ไฟฟ้าก็ยังเหมือนเดิม แล้วค่าไฟพุ่งมาจากสาเหตุอะไร
จะว่าไปแล้วอุปกรณ์ที่กินไฟมากในบ้านนั้นหลักๆแล้วมีดังนี้
1. เครื่องปรับอากาศ กินไฟ ประมาณ 1500 W
2. ตู้เย็นขนาดกลางกินไฟประมาณ 200 W
3. เครื่องทำน้ำอุ่นกินไฟประมาณ 3000 W
4. เครื่องต้มน้ำร้อนกินไฟประมาณ 1000 W
5. เตารีดกินไฟประมาณ 1000 W
6. หม้อหุงข้าวกินไฟประมาณ 700 W
สำหรับการใช้งานเครื่องไฟฟ้าอย่างเครื่องทำน้ำอุ่นนั้นจะพบว่าในช่วงหน้าร้อนอาจจะมีการอาบน้ำร้อนน้อยลง การรีดผ้าก็ไม่ได้ทำทุกวัน การหุงข้าว ต้มน้ำ ก็เป็นเรื่องปกติใช้งานเหมือนเดือนก่อนๆ แต่สิ่งที่ทำให้ค่าไฟพุ่งพรวดนั้นก็คือรายการที่ 1 และรายการที่ 2 แต่หลักๆแล้วจะเป็นรายการที่ 1 คือเครื่องปรับอากาศเสียมากกว่า
เหตุที่เครื่องปรับอากาศกินไฟมากสุดเพราะการทำงานของเครื่องปรับอากาศนั้นอาศัยการทำงานเพื่อนำความร้อนออกจากห้อง ถ้าความร้อนในห้องยังสูง ไม่ลงไปถึงค่าที่กำหนดไว้ตัวคอมเพรซเซอร์จะทำงานตลอดเวลากินไฟระดับ 1.5 kW จะทำให้ทุกๆ 1 ชั่วโมงจะกินไฟ 1.5 หน่วย เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 6 บาทต่อชั่วโมง
นั่นหมายถึงว่าถ้าวันนึงเปิดแอร์แล้วคอมเพรซเซอร์ไม่ตัดเลยในช่วงค่ำๆ ซัก 5 ชั่วโมงตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม ค่าไฟสำหรับแอร์ต่อวันจะตกที่ 30 บาท รวม 30 วันเฉพาะค่าไฟจากแอร์ตัวนี้ก็จะเป็น 900 บาท หรือเกือบพันบาทเลยทีเดียว
ถ้าถามว่าทำไมคอมเพรซเซอร์ถึงไม่ตัดเลย เห็นตอนใช้แอร์ในช่วงฤดูหนาว ลมแอร์ก็ออกตลอดเวลาเหมือนกัน แล้วตอนนี้เดือนเมษายนแอร์ก็น่าจะทำงานอยู่เหมือนเดิมไม่น่ามีอะไรแตกต่างกัน ก็อย่าลืมว่าตัวชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศภายในห้องจะทำหน้าที่ปล่อยลมเย็นออกมา โดยพัดลมในตัวคอล์ยเย็นนี้จะทำงานตลอดเวลาที่เปิดเครื่องปรับอากาศอยู่จะแรงจะเบาก็อยู่ที่การปรับค่า
พัดลมตัวนี้จะกินไฟน้อยมากแม้จะทำงานตลอดเวลาก็ตาม แต่ส่วนที่กินไฟเยอะก็คือคอมเพรซเซอร์ตัวด้านนอกที่ในช่วงฤดูร้อนจะทำงานนานขึ้นจนกว่าอุณหภูมิภายในห้องจำต่ำกว่าค่าที่ตั้งเอาไว้
กินไฟมากเพราะเอาความร้อนออกไม่หมด
ห้องพักอาศัยทั่วไปจะติดแอร์ที่ไม่ได้เผื่อค่าทำความเย็นมากนัก เพราะเครื่องปรับอากาศยิ่งตัวใหญ่จะยิ่งแพงและคนทั่วไปรู้สึกว่าจะยิ่งทำให้เปลืองไฟ โดยห้องขนาด 20 ตารางเมตร ถ้าเปิดตารางการหาขนาด BTU ที่เหมาะสมแล้วจะพบว่าควรติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ 12,000 BTU ซึ่งจะพบว่าเป็นการติดตั้งแอร์สำหรับสภาพอากาศทั่วไป ซึ่งหากเป็นฤดูร้อน 12,000 BTU อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องดูไปที่ 15,000 – 17,000 BTU
นั่นเพราะในช่วงฤดูร้อน ฝนไม่ตกเลย สภาพอากาศภายนอกจะร้อนมากอุณหภูมิอาจเกิน 40 องศา ยิ่งบริเวณใต้หลังคาไม่ต้องพูดถึง อุณหภูมิจะเกิน 60 องศากันเลยทีเดียว
ความร้อนของหลังคาที่ถูกแดดเผานั้นจะร้อนมาก ความร้อนตรงนั้นจะถูกแผ่รังสีลงมาที่ฝ้า ฝ้าก็จะสะสมความร้อนแล้วก็ปล่อยความร้อนลงมายังในห้องอีกที
ความร้อนอันมหาศาลนี้ถือเป็นภาระของเครื่องปรับอากาศที่จะต้องพยายามนำออกไป แม้ว่าจะนำความร้อนออกไปได้บ้างแต่เพราะความร้อนที่ระดมเข้ามาตลอดเวลา ถ้า BTU ของแอร์ไม่พออุณหภูมิของห้องก็แทบจะไม่ลดลงเลย เป็นผลให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานตลอดเวลา ยิ่งบางคนอาจจะเปิดพัดลมที่เครื่องปรับอากาศเบาเกินไป ประสิทธิภาพในการนำความร้อนออกก็ยิ่งลดลงไปด้วย การเปิดพัดลมช่วยให้ลมเกิดการหมุนเวียนก็อาจจะพอช่วยได้บ้าง
หลายคนอาจจะบอกว่ากว่าจะเปิดแอร์ก็ดึกดื่นแล้ว แดดไม่มีแล้วทำไมค่าไฟยังสูงอยู่
ก็อย่าลืมนะครับว่า ช่วงกลางวันที่แดดแผดเผาอยู่นั้นความร้อนจะถูกสะสมอยู่บนหลังคา บนฝ้า ส่งลงมายังผนังคอนกรีตและที่พื้น รวมทั้งมวลอากาศภายในห้องอีกด้วย เครื่องปรับอากาศจะต้องทำงานหนักมากในการระบายความร้อนเหล่านี้ออกไปนอกเหนือจากการพยายามทำความเย็นให้กับมวลอากาศในห้อง โดยจะพบว่าสองสามชั่วโมงแรกคอมเพรซเซอร์อาจจะไม่ตัดการทำงานเลยก็ได้
แล้วจะทำอย่างไรให้เปิดแอร์แล้วประหยัดไฟ
ความจริงแล้วการรู้สึกเย็นสบายของเราไม่ได้มาจากความเย็นเพียงอย่างเดียวนะครับ เราจะรู้สึกสบายตัวเมื่อความชื้นต่ำไม่เหนียวตัว อย่างในภาคอีสานในช่วงฤดูร้อน ท่านอาจจะไม่รู้สึกเหนียวตัวเหมือนอยู่ทางภาคใต้การอยู่อีสานเลยอาจจะไม่รู้สึกว่าร้อนมากในช่วงฤดูร้อน
ในอาคารขนาดใหญ่ระบบปรับอากาศจะเป็นคนละแบบกับในบ้าน หากเดินเข้าไปจะรู้สึกเย็นสบายทันทีเนื่องจากความชื้นในอากาศมีน้อยมาก เหงื่อจากตัวท่านจะแห้งในทันที ความรู้สึกของคนทั่วไปเลยรู้สึกว่าแอร์เย็นฉ่ำ
เราเองอาศัยความเคยชินในลักษณะนั้น เลยอาจจะพยายามเปิดเครื่องปรับอากาศให้เหมือนว่าอยู่ในห้าง แต่ยังไงก็เป็นไปไม่ได้เพราะระบบปรับอากาศของเราไม่เพียงพอที่จะทำอย่างนั้น เป็นผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ทำงานตลอดเวลา ค่าไฟเลยเพิ่มขึ้นมหาศาล
การเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อน จึงควรทำเพื่อลดความชื้น ไม่ใช่ลดอุณหภูมิ วิธีการง่ายๆคือหลังจากเปิดแอร์ไประยะหนึ่งแล้ว ให้ลองเพิ่มอุณหภูมิในรีโมทดูจนกว่าเสียงคอมเพรซเซอร์จะตัดการทำงาน อาจจะลองไปฟังเสียงดูหรือให้คนไปยืนดูการหมุนของมิเตอร์ก็ได้
จะพบว่าในช่วงฤดูร้อนตอนกลางวันคอมเพรซเซอร์จะตัดประมาณ 28 – 29 องศา อย่างบ้านผมห้อง 24 ตรม ใช้แอร์ 17,000 BTU แอร์จะตัดที่ 30 องศา แล้วใช้พัดลมช่วย ระหว่างนั้นเครื่องปรับอากาศจะตัดต่อเป็นปกติ พอเริ่ม 4 โมงเย็น ก็ค่อยๆลดอุณหภูมิลงเพื่อให้คอมเพรซเซอร์เริ่มทำงาน จนกระทั่งถึงช่วงดึกก่อนนอนจะพบว่าลดอุณหภูมิลงมาที่ 26 – 27 องศาอากาศก็ยังเย็นสบาย เพราะมีการดูดความชื้นออกไป พอตอนหัวรุ่งบางครั้งลุกเข้าห้องน้ำ ก็จะลดมาที่ 25 องศา พอตื่นนอนก็ปิดแอร์
เริ่มเปิดเครื่องปรับอากาศอีกครั้งประมาณ 10 โมงเช้า โดยเริ่มที่ประมาณ 28 องศา คอมเพรซเซอร์จะทำงาน พอใกล้เที่ยงก็เพิ่มอุณหภูมิรีโมทเพื่อให้คอมเพรซเซอร์ตัดบ้างเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น
ด้วยวิธีนี้เดือนมกราคมกับเมษายนค่าไฟต่างกันเพียง 200 บาทเท่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกว่าร้อนอะไรเลย แต่พบว่าช่วงฤดูหนาวตอนเที่ยงๆ คอมเพรซเซอร์จะตัดที่ประมาณ 27 องศา ส่วนกลางคืนต้องปรับให้ลงไปที่ 25 คอมเพรซเซอร์ถึงจะต่อ
หลักการนี้ก็เพื่อให้เครื่องปรับอากาศดูดความชื้น และอุณหภูมิภายในและภายนอกไม่ต่างกันมาก ทำให้ภาระไม่ตกอยู่ที่เครื่องปรับอากาศ อย่าหลงประเด็นที่ว่าอากาศร้อนแล้วต้องปรับรีโมทลงไปเรื่อยๆ บางบ้านอยู่ที่ต่ำสุด แล้วคิดว่าจะเย็น ความจริงก็คือ ความร้อนมันเข้ามามากเกินจนเอาออกไม่ทัน ยังไงก็ไม่เย็นไปกว่าเดิม แถมยังเปลืองไฟอีกหลายเท่าตัวนะครับ
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.