คลิ้กเลย!! เทพแห่งเงินด่วน โทร 0928840418 <- จิ้มที่ตัวเลขแล้วกดโทรเลย

News Ticker

จะชำระหนี้เงินกู้ให้หมดหรือจะเก็บเงินไว้ลงทุนดี สิ่งไหนที่จะเหมาะสำหรับคุณ

คำถามนี้อาจจะไม่พบได้บ่อยนัก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตหลายคนก็จะเริ่มมีคำถามเหล่านี้ขึ้นมาในใจเสมอ

เหตุเพราะว่าเมื่อเริ่มต้นวันทำงานใหม่ๆ ต่างคนต่างก็มีความฝันของตัวเอง เช่นต้องการมีบ้าน มีรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ต้องขอสินเชื่อธนาคารเพื่อซื้อบ้าน หรือเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อซื้อรถหรืออะไรต่างๆ

เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่ความต้องการตอบสนองความอยากเริ่มลดลง และมีการเริ่มเก็บออมเงินมากขึ้นเพื่ออนาคตในวัยเกษียณ เมื่อเริ่มมีเงินก้อนขึ้นมาก็เริ่มจะมีคำถามในใจว่า ควรจะนำเงินก้อนหนี้ไปจ่ายหนี้ให้หมด หรือว่าจะเก็บเงินไว้เพื่อการลงทุนดี ตัดสินใจไม่ได้กลัวเลือกทางผิด กระผมในฐานะแอดมินของ ThaimoneyAdvice เลยขอถือโอกาสนี้ในการให้คำแนะนำแก่ท่านเพื่อช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้นนะครับ

จะชำระหนี้ให้หมดหรือเก็บเงินไว้ลงทุนดี

ประเด็นของการเป็นหนี้ คนวัยทำงานส่วนใหญ่ก็แบกหนี้ก้อนใหญ่มาก อย่างเงินกู้ซื้อบ้านยอดหนี้หลักล้าน เงินกู้ซื้อรถยอดหนี้หลักแสน บางคนก็อาจจะมีหนี้ กยศ. ติดตัวมาด้วย

การได้ชำระหนี้ให้หมดไปดูเหมือนจะเป็นการยกภาระอันยิ่งใหญ่ออกจากอก และดูเหมือนว่าเป็นเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจที่จะสามารถบอกเล่าผู้คนรอบข้างได้ว่าตัวเองไม่มีหนี้ ไม่มีภาระที่ต้องแบก ชีวิตไม่มีเรื่องต้องกังวลใจ

แต่การได้เงินมาทุกบาทแล้วนำไปชำระหนี้ การวางแผนทางการเงินของคุณมีเพียงแค่นี้จริงหรือ แล้วการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ การลงทุนเพื่อให้รายได้งอกเงยจะทำอย่างไร ไม่มีหนี้ก็จริงแต่ไม่มีเงินออมสำหรับอนาคตก็ถือเป็นเรื่องน่ากังวลใจอยู่เหมือนกัน

มันกลายเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมาก ว่าควรจะเลือกทางไหนดี มีเงินก้อนเข้ามาจะนำไปลงทุนหรือจะจ่ายหนี้ให้หมดก่อนดี หรือจะทำทั้งสองกรณีไปพร้อมๆกัน หรือทุ่มเงินไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่ากัน

ถ้าคิดว่าจะรีบผ่อนหนี้ กยศ. ให้หมดโดยเร็วก็ต้องตัดใจไม่เก็บเงินไว้ลงทุนซักบาท มุ่งหน้าเก็บเงินที่ได้เพิ่มมาเพื่อไปใช้หนี้ กยศ. อย่างเดียว สำหรับผู้อ่านหลายท่านแล้วอาจจะมองว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำจะรีบจ่ายหนี้ไปทำไม แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความต้องการส่วนตัว คงจะให้ใครมาแนะนำว่าควรทำอย่างไรก็คงไม่ได้

ด้วยหลักการเดียวกัน ถ้าคุณถามตัวเองว่าควรจะจ่ายหนี้ให้หมดหรือว่าเก็บเงินไว้ลงทุน ผมก็คงจะให้คำตอบที่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ เพราะสถานการณ์ของแต่ละคนนั้นต่างกัน

อย่างไรก็ตามผมก็จะพยายามนำเสนอข้อมูลถึงตัวแปรต่างๆที่คุณควรจะต้องคำนึงถึงในสถานการณ์ของคุณเพื่อที่จะช่วยให้คุณกระทำการตัดสินใจในหนทางที่ดีที่สุด

คุณมีเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหน

เริ่มต้นเลย เราก็ควรจะพูดถึงเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินก่อน เพราะหลายๆคนอาจจะกำลังคิดว่าควรจะมีเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินมากน้อยแค่ไหนขณะที่พวกเขากำลังผ่อนชำระหนี้ต่างๆอยู่

สำหรับคนที่กำลังวางแผนทางการเงินให้กับชีวิตของตัวเองหรือครอบครัวอยู่ หลายคนคงได้ยินคำว่า เงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน (Emergency Fund) กันมาแล้ว

ซึ่งในแง่ของผมเองแล้วจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก นั่นเพราะหากชีวิตของคุณมีหนี้สินที่ต้องชำระสะสาง พอมาถึงคำถามว่าจะชำระหนี้ให้หมดหรือเก็บเงินไว้ลงทุนดี คุณควรจะต้องมีความคิดแว่บนึงว่าต้องเก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งก็คือเงินที่ว่านั่นเอง

เหตุที่ต้องมี Emergency Fund เพราะคุณไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาในชีวิต จะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าคิดผิดที่เอาเงินไปใช้หนี้ซะหมด ดังนั้นการที่เรากำลังผ่อนจ่ายหนี้สินอยู่นั้นเราไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินก้อนใหญ่ตามตำราที่บอกว่า 3 – 6 เดือนก็ได้

ถ้าคุณกำลังเล่นตามตำรา เช่นตั้งเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ 6 เท่าของเงินเดือน ถ้าสมมุตเงินเดือน 30,000 บาท อาจจะตั้งสำรองไว้ที่ 180,000 บาท คุณอาจจะลดตัวเลขนี้ลงหากยอดหนี้สินต่างๆยังสูงอยู่ให้เหลือประมาณ 100,000 บาท ก็พอ

หรือถ้าคุณใช้ตัวเลขขึ้นต่ำที่ 3 เดือน คือวงเงินสำรอง 90,000 บาท คุณอาจจะลดให้ลงเหลือเพียง 50,000 บาทก็พอ เพราะอย่างน้อยก็เพียงพอสำหรับเหตุจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา

ถ้าคุณนำเงินก้อนนี้ไปจ่ายหนี้เสียหมดจนเหลือวงเงินฉุกเฉินเพียง 0 บาท ในความเป็นจริงมันจะมีผลทางจิตวิทยามากสำหรับคุณ เพราะแทนที่คุณจะตั้งใจว่าจะนำเงินทุกบาทไปชำระหนี้ให้หมด คุณอาจจะต้องรู้สึกกังวลใจไปกับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น จะทำให้นอนไม่หลับซะเปล่าๆถ้าเกิดเหตุว่าต้องซ่อมบ้านหรือซ่อมรถแล้วไม่มีเงิน

ขณะที่เงินฉุกเฉินนี้ถ้านำไปชำระหนี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณประหยัดดอกเบี้ยไปมากมายเท่าไหร่ ถ้าคิดที่อัตราดอกเบี้ยซื้อบ้านที่ 6% ต่อปี ถ้าคุณชำระหนี้คืนไป 50,000 บาท เท่ากับคุณประหยัดดอกเบี้ยไป 250 บาท ต่อเดือนเท่านั้น แต่ถ้าคุณต้องกลับไปยืมเงิน 50,000 บาทมาจากแหล่งอื่น อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคงจะมากกว่าจำนวน 250 บาทต่อเดือนเป็นแน่

ถ้าชีวิตการเป็นหนี้ของคุณนั้นไม่มีวงเงินสำรองอยู่ละก็ มันจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้น เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา คุณก็ต้องกู้หนี้ยืมสินเข้ามาซึ่งจะทำให้หนี้คุณสูงขึ้นแถมยังต้องจ่ายด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีกด้วย

สรุปว่าก่อนที่จะคิดนำเงินส่วนเกินไปชำระหนี้หรือนำไปลงทุน คุณควรตั้งวงเงินสำรองเอาไว้ แยกบัญชีไว้ต่างหาก เมื่อมีเงินจำนวนดังกล่าวเก็บไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินแล้ว ถึงค่อยมาคิดต่อว่าจะชำระหนี้ให้หมดหรือนำมาลงทุนดี

คุณต้องการจะชำระหนี้ให้หมดเร็วแค่ไหน

สำหรับบางคนแล้วจะกลัวการเป็นหนี้มาก อาจจะเพราะครอบครัวเคยประสบปัญหาชีวิตทางการเงินมาก่อน เลยต้องการผ่อนชำระหนี้ให้หมดอย่างรวดเร็ว

หลายๆคนไม่อยากจะแบกหนี้จำนวนมากไว้ตลอดชีวิต เช่นอาจจะกู้ซื้อบ้านด้วยวงเงินกู้สูงทำให้ต้องผ่อนนาน โดยในสัญญาเงินกู้ระบุอายุสัญญาถึงขั้นวัยเกษียณกันเลยทีเดียว (แอดมินต้องผ่อนบ้านหลังนึงที่จะหมดสัญญาตอนอายุ 60 ปี)

นั่นแสดงว่าทุกๆวันจะต้องมีตัวเลขก้อนโตอยู่ในใจ และทุกๆเดือนจะต้องหาเงินมาผ่อนหลักหมื่นบาท ทำให้หลายคนตกอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีทรัพย์สินสำรองหรือลู่ทางในการหาเงินให้ได้ก้อนโตในอนาคต เพราะคิดว่าหากตกงานวันนี้แล้วจะหาเงินที่ไหนมาผ่อน ต้องรีบหางานใหม่ ไม่มีวันที่จะเกษียณก่อนกำหนดแน่นอน

ถ้าการเป็นหนี้ทำให้คุณรู้สึกเคร่งเครียด อยากอยู่แบบสบายๆ ผ่อนคลาย คำตอบของคุณก็คงอยู่ที่การรีบผ่อนชำระหนี้สินให้หมดโดยเร็ว เมื่อไหร่มีเงินก้อนก็รีบไปโปะหนี้ เพราะหากคิดจะลงทุนทำอะไร อาจจะเกิดการขาดทุนเอาได้ จะทำให้เสียเงินก้อนไปฟรีๆ

การทำให้หนี้หมดไปโดยเร็ว จะทำให้คุณได้มีโอกาสในการพัฒนาสถานการณ์ทางการเงินของคุณหลังจากนั้น เช่นอาจจะค่อยคิดหันมาลงทุนโดยไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเสียเงินแล้วยังต้องแบกหนี้อยู่หากธุรกิจขาดทุน

รูปแบบนี้เหมือนกับการเลือกทำทีละอย่างแทนที่จะทำหลายอย่าง เมื่อคุณบรรลุเป้าหมายแรก คุณก็จะได้ตั้งหน้าตั้งตาดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายถัดไปได้อีก

คุณจะเลือกไปในแนวทางนี้ได้ คุณต้องคิดว่าคุณจะมีเวลาเหลือให้สร้างความมั่งคั่งเพียงพอหรือไม่ ถ้าสภาวะการเงินของคุณอยู่ในแบบที่ว่าชำระหนี้หมดแล้วก็เกษียณพอดีก็ไม่ขอแนะนำ จึงสรุปได้ว่าคุณจะเลือกแนวทางนี้ได้คุณจะต้อง
– กลัวการเป็นหนี้
– อยากมีชีวิตอิสระโดยเร็ว
– เลือกแก้ทีละปัญหา
– มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างความมั่งคั่ง

พื้นฐานชีวิตคุณมีแนวทางในการลงทุนหรือไม่

สำหรับคนที่เลือกวิธีชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว นั่นแสดงว่าคุณไม่กล้าเลือกเส้นทางอื่น อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า
– ไม่รู้จะลงทุนอะไรดี
– กลัวขาดทุน
– ผลตอบแทนน้อย
– เล่นหุ้นไม่เป็น
– ไม่เคยทำการค้าขาย
– ไม่อยากรับเหมาก่อสร้างเพราะกลัวโดนโกง
– มองศักยภาพพื้นที่ไม่ออก วางแผนไม่เป็น ทำเองไม่เป็น

ถ้าคุณมีเหตุผลข้างต้นในใจ การเลือกจ่ายหนี้ให้หมดไปก่อนถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะถ้ามาลงทุนด้วยแล้วขาดทุน คุณจะทำใจไม่ได้ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่

แต่สำหรับครอบครัวที่พื้นฐานมาจากการค้าขาย ทำธุรกิจ หรือลงทุนมาก่อน ส่วนใหญ่จะมองว่าการนำเงินมาต่อยอดการลงทุนนั้นดีกว่ารีบเอาเงินไปชำระหนี้ เพราะหลากหลายธุรกิจต่างก็เริ่มจากการเป็นหนี้ทั้งนั้น

หากบริหารจัดการได้ดี เราจะพบว่าบางครั้งทรัพย์สินต่างๆที่เคยปลอดหนี้ต่างก็ถูกนำมาเข้าธนาคารเพื่อนำเอาเงินสดมาหมุนเวียนในกิจการ ดังนั้นการรีบชำระหนี้เพื่อประหยัดดอกเบี้ยเงินกู้ยังได้ประโยชน์น้อยกว่าการเอาเงินก้อนนั้นมาสร้างผลตอบแทนซะอีก

ตัวอย่างเช่นนำเอาเงิน 1 ล้านบาท ไปชำระหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน จะทำให้ปีนั้นประหยัดดอกเบี้ยไปเพียง 60,000 บาทเท่านั้น แต่หากนำเงินก้อนนั้นมาลงทุนในกิจการ เช่นการรับงานเพิ่มแล้วสั่งของมาทำเพิ่มทำกำไรได้ 10% ก็จะทำให้ได้กำไรมา 100,000 บาท หักลบส่วนต่างแล้วยังได้กำไร 40,000 บาท แล้วถ้าจบงานได้เร็ว แล้วรับงานต่อเนื่องกำไรก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือหลักคิดของคนที่ยอมเป็นหนี้นานๆ เพราะมีแนวทางในการลงทุนนั่นเอง

ในกรณีของผมเอง ความจริงเงินสดที่มีอยู่ก็พอจะลดหนี้ไปได้บางส่วน และประหยัดดอกเบี้ยต่อปีไปเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ถ้าหากใช้แนวคิดปลดหนี้ให้ได้เร็วที่สุดก็คงไม่มีโอกาสได้ซื้อที่ดินทำเลดีๆเก็บไว้

นั่นคือในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเองก็ผ่อนชำระเงินกู้ซื้อบ้านไปตามอัตราที่ธนาคารกำหนดมาตลอด แทบจะไม่โปะเลยในช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่ระหว่างนั้นกระผมเองก็มีเงินเก็บสะสมอยู่ ซึ่งถ้ารวมจำนวนเงินแล้วก็จะชำระหนี้เงินกู้ซื้อบ้านหมดไปนานแล้ว

แต่สิ่งที่ผมทำก็คือพอมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งก็ไปหาซื้อที่ดินเก็บเอาไว้ แปลงละ 4 แสนถึง 5 แสนบาท เวลาผ่านไปมีถนนตัดผ่านราคาที่ดินก็ขึ้นพรวดๆ กลายเป็นมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินด้วยซ้ำ

ลองคิดในทางกลับกัน ถ้าผมรีบชำระเงินกู้ซื้อบ้านให้หมดไปก่อนตอนนั้น พอมีที่ดินแปลงสวยๆประกาศขายออกมา ผมจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ที่ดินเปล่าธนาคารก็ไม่รับจำนองอยู่แล้ว ถ้าจะเอาบ้านไปเข้าธนาคารอีกครั้งเหมือนโครงการเปลี่ยนบ้านเป็นเงิน อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านพักอาศัยหลังใหม่ แถมกระบวนการพิจารณาอนุมัติเนิ่นนานเป็นเดือนกว่าจะได้เงิน เทียบกับการมีเงินสดในกระเป๋าอยู่แล้วซื้อได้ทันที

กระผมทำแบบนี้ด้วยการถือคติว่า ผ่อนบ้านไปเรื่อยๆอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ซื้อทรัพย์สินไว้ผ่านไป 10 ปีราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว เท่ากับได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี แบบไม่ทบต้น หนี้บ้านลดลงเรื่อยๆ ทรัพย์สินที่สะสมไว้กลับมีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่หากมัวแต่ผ่อนหนี้ให้หมด สมมุตเวลาผ่านไป 5 ปีหนี้หมด กว่าจะเก็บเงินได้อีกเพื่อจะซื้อที่ดินก็ใช้เวลาอีก 2 ปี เวลาผ่านไปแล้ว 7 ปี ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจนตามไม่ทันแล้ว ต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 3 ปี รวม 10 ปี อาจจะยังไม่มีที่ดินให้เป็นเจ้าของซักแปลง แน่นอนว่าหนี้บ้านหมดแล้ว กำเงินสดไว้หรืออาจจะซื้อที่ดินได้แล้วแต่ก็ต้องมารอลุ้นกันอีก 10 ปีว่า ละแวกนั้นจะเจริญขึ้นหรือไม่ ความรู้สึกมันแตกต่างกันเยอะกับที่ผ่านมาได้ไปดูความเจริญของบริเวณที่เราได้ไปซื้อที่ดินเอาไว้

ดังนั้นคนที่จะเลือกแนวทางนี้ ควรจะเป็นคนที่มีแนวทางในการลงทุน เช่นครอบครัวมีพื้นฐานด้านการค้าขายการลงทุนมาก่อน หรือเป็นคนในท้องถิ่นเป็นที่รู้จัก มีแนวทางในการแสวงหากำไรหรือมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนได้ และต้องมองออกว่าเลือกแนวทางไหนถึงจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่ากัน

หรือเลือกทำทั้งสองอย่าง

เชื่อว่าอีกหลายคนคงไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะผมเองก็เช่นกัน เมื่อถึงจุดนี้คิดว่าชีวิตน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ทรัพย์สินในรูปอสังหาริมทรัพย์ก็มีอยู่หลายหลังหลายแปลงแล้ว ก็เลยต้องปรับเปลี่ยนแนวทางของสถานภาพทางการเงิน

ปัจจุบันเริ่มต้นที่จะใช้แนวทางแบ่งคนละครึ่ง หรือ 50-50 นั่นคือ เมื่อมีเงินก้อนเข้ามา ก็จะนำเงินครึ่งหนึ่งไปชำระหนี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเก็บไว้เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นบางช่วงที่เล็งที่ดินบางแปลงเอาไว้ ก็จะลดการชำระหนี้ลงเก็บเงินก้อนไว้เพื่อไปติดต่อเจรจาซื้อที่ดิน

ระหว่างที่ยังตกลงราคากันไม่ได้ก็ดำเนินวิธี 50 – 50 ต่อไป พอซื้อที่ได้ก็ต้องเริ่มเก็บเงินก้อนใหม่ ด้วยการลดการโปะหนี้เงินกู้ลงเหลือ 0 แล้วเก็บเงินสะสม 100% (ยังผ่อนขั้นต่ำตามปกติที่สถาบันการเงินกำหนด)

ดังนั้นสำหรับหลายๆท่านที่กำลังเป็นหนี้ และมีแนวทางในการลงทุน การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการโปะหนี้หรือการลงทุนอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางการเงินของท่านนั่นเอง

เลือกลงทุนผ่านระบบ

สำหรับคนที่มีความคิดโปะหนี้ให้หมดโดยเร็วแล้วละก็ ในความคิดของท่านอาจจะคิดว่าไม่รู้จะลงทุนอะไรดี กลัวทุนหายกำไรหด ก็ต้องขอแนะนำว่า การลงทุนผ่านระบบในชีวิตการทำงานของคุณนั้นยังมีอยู่ นั่นก็คือ

-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ในองค์กรของคุณย่อมมีสวัสดิการสำหรับพนักงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั่นเอง โดยยิ่งหากท่านสบทบเงินของท่านไปมากเท่าไหร่ ทางบริษัทหรือหน่วยงานก็จะสบทบไปมากตามสัดส่วนที่กำหนดนั้น

นอกจากนี้แล้วผลตอบแทนที่ท่านได้รับก็จะได้มาจากการบริหารงานของมืออาชีพ ซึ่งท่านจะได้ผลตอบแทนทั้งในส่วนของเงินสบทบของท่านเอง รวมไปถึงเงินที่บริษัทสมทบอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อผลตอบแทนสูงสุด โดยท่านไม่ต้องลงแรงมากมาย ท่านควรติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน เพื่อเพิ่มยอดเงินสมทบให้อยู่ในสัดส่วนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากเงินสบทบให้ได้มากที่สุด

-LTF RMF

สำหรับผู้ที่อัตราเงินเดือนสูง แล้วต้องจ่ายภาษีสูงๆ ท่านอาจจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยการเลือกลงทุนผ่านกองทุน LTF หรือ RMF ได้ โดยนอกจากจะได้ผลประโยชน์หักค่าลดหย่อนแล้ว ยังจะได้ผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนของมืออาชีพผ่านตลาดหุ้นอีกด้วย

สองแนวทางนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากลงทุนเอง แต่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทนในระดับหนึ่ง ในขณะที่อาจจะกันเงินบางส่วนไปโปะหนี้ให้หมดด้วยก็ได้

บทสรุป

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านก็คงมีคำตอบแล้วนะครับว่า จะเลือกแนวทางไหนระหว่างการรีบโปะหนี้ให้หมดหรือจะนำเงินไปลงทุนหาผลตอบแทน

จะเห็นได้ว่าแนวทางต่างๆนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมส่วนตัวของท่าน แต่สิ่งที่ท่านควรตระหนักไม่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่งก็คือ

– เงินสำรองฉุกเฉินท่านมีหรือยัง
– ท่านมีเวลาเพียงพอที่จะสร้างความมั่งคั่งสำหรับวัยเกษียณหรือไม่
– ท่านกลัวการเป็นหนี้หรือว่ากลัวไม่มั่นใจในชีวิตอนาคตวัยเกษียณอันไหนมากกว่ากัน

เมื่อชั่งใจได้แล้วก็ลุยเลย อย่ามาคิดเสียดายย้อนหลังอีกว่าน่าจะเลือกอีกทางหนึ่ง ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยแนวทางที่เราเลือกแล้วนั่นเอง

 

ภาพประกอบ : cnn.com

Leave a comment