คลิ้กเลย!! เทพแห่งเงินด่วน โทร 0928840418 <- จิ้มที่ตัวเลขแล้วกดโทรเลย

News Ticker

ประกัน MRTA ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องต่อรองให้คุ้มค่าที่สุด

ประกัน MRTA ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องต่อรองให้คุ้มค่าที่สุด

ปัจจุบันแทบทุกสถาบันการเงินจะบังคับซื้อประกันไปพร้อมกับเงินกู้ และประกันอันหนึ่งที่มักจะบังคับขายไปพร้อมๆกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็คือ ประกัน MRTA นั่นเอง

ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนเกี่ยวกับรายละเอียดของ ประกัน MRTA มาแล้ว ว่าแตกต่างจากประกันชีวิตทั่วไปอย่างไร คราวนี้ก็มาถึงประสบการณ์ล่าสุดในการยื่นกู้ซื้อบ้านแล้วต้องโดนบังคับทำ ประกัน MRTA ซึ่งก็ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้น้อยที่สุด ด้วยการต่อรองกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อถึงเหตุผลความจำเป็นและการขอพบกันครึ่งทางระหว่าง KPI ของพนักงาน กับค่าใช้จ่ายของเรา

ประกันอัคคีภัย โดนบังคับซื้อแน่ๆ เลี่ยงไม่ได้

ล่าสุดผู้เขียนยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแห่งหนึ่ง ด้วยอาชีพอิสระไม่มีเงินเดือนประจำ เมื่อมาถึงประเด็นของประกันภัย สิ่งที่ต้องซื้อแน่ๆเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ประกันอัคคีภัย ด้วยวงเงินกู้ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) โดนค่าประกันอัคคีภัยไป 12,2xx บาท สำหรับระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี

เนื่องจากผู้เขียนยื่นกู้ด้วยระยะเวลาเพียง 10 ปี ก็เลยโดยคิดค่าประกันอัคคีภัยเต็มๆ เลย 10 ปี ในขณะที่บ้านอีกหลังกู้กับอีกธนาคารเขาจะคิดค่าประกันอัคคีภัยคราวละ 3 ปีเท่านั้น เอาเป็นว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารคงอยากได้ผลงานรวดเดียวไปเลย ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาใส่ให้เรา 10 ปีซะงั้น ซึ่งก็ไม่ว่ากันเพราะหากต้องผ่อนยาวถึง 10 ปี ก็ต้องซื้อประกันนี้ให้ครบถ้วนอยู่ดี

ประกัน MRTA ต่อรองได้เสมอ

มาถึง ประกัน MRTA ซึ่งเคยอธิบายไว้แล้วว่า ธนาคารไม่สามารถบังคับซื้อได้ แต่ด้วยการประกอบอาชีพอิสระ รายได้ไม่แน่นนอน ไม่มีสวัสดิการที่ทำงาน ประกันสังคมก็ไม่มี หากเราเป็นอะไรไป ประกันชีวิต บำเหน็จ บำนาญ ไม่ได้มีเหมือนคนทำงานราชการหรือทำงานบริษัทใหญ่โต

แม้เราเองจะมีประกันชีวิตอยู่แล้วหลายกรมธรรม์ แต่ก็เอาเหอะยอดเงินไม่มาก จะยินดีซื้อ ประกัน MRTA ด้วย แต่บอกเจ้าหน้าที่ธนาคารไปว่า หากสินเชือผ่านจะซื้อประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น

ครั้งแรกที่เอกสารออกมาว่ายื่นกู้ 10 ปี เจ้าหน้าที่ธนาคารนำเอกสารมาให้ดู โห โดนค่าประกัน MRTA เข้าไป 67,000 บาท สำหรับระยะเวลา 10 ปี เลยแจ้งไปว่า ไปดูรายได้ซิในแต่ละเดือนมีรายได้เท่าไหร่ ข้าพเจ้าสามารถผ่อนบ้านหมดได้ภายในระยะเวลา 2 – 3 ปีเท่านั้น ดังนั้นอย่าให้ข้าพเจ้าต้องเสียเวลามาเวนคืนกรมธรรม์ประเภทนี้เลย เลยขอว่าทำให้วงเงินเหลือที่ราวๆ 20,000 บาทได้ไหม

หายไปซักพัก เจ้าหน้าก็โผล่มาใหม่พร้อมข้อมูลว่า ซื้อ MRTA แค่ระยะเวลา 3 ปี จ่ายเบี้ยประมาณ 21,xxx พอรับได้หรือไม่ เลยแจ้งว่ายอดนี้โอเค เดี๋ยวจะขอจ่ายเป็นเงินสดไปเลย เพราะจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองผ่อนค่าประกันเสียดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไปอีก สุดท้ายเลยจบลงที่ค่าประกัน MRTA ระยะเวลาเพียง 3 ปี ไม่ต้องจำใจจ่ายอีก 4 หมื่นกว่าบาท แล้วพอผ่อนหมดต้องมาทำเรื่องเวนคืนให้ลำบากยากเย็นอีก

ประเด็นนี้เลยจะชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้วประกัน MRTA นั้น เขาไม่ได้บังคับให้ซื้อ แต่คนที่บังคับคือเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ถูกนายจ้างคือธนาคารบังคับว่าต้องขายให้ได้ ถ้าเรามีอำนาจต่อรองในมือก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์

คำว่าอำนาจต่อรองเช่น คนที่ทำงานเงินเดือนมั่นคง กู้แบ้งค์ไหนก็ผ่าน ก็ให้ต่อรองไปเลยว่า ถ้าไม่ลด MRTA ลงไปกว่านี้จะไปเซ็นสัญญากับแบ้งค์อื่น

ในช่วงนั้นผู้เขียนเองก็ยื่นกู้กับอีกธนาคารเหมือนกัน โดยกรณีนั้นบังคับว่าต้องซื้อ MRTA ตลอดระยะเวลา 10 ปี แต่ยินดีให้ซื้อวงเงินคุ้มครองไม่ต้องเต็ม 1 ล้านบาทก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งก็ไม่ได้ต่อรองอะไรมากมายเพราะดอกเบี้ยแพง จริงๆแล้วถ้าคิดจะกู้กับธนาคารนี้คิดว่าคงได้ต่อรองกันหนักหน่อย

MRTA ยังจำเป็นหากไม่อยากฝากภาระให้กับคนข้างหลัง

จะว่าไปแล้วการซื้อ ประกัน MRTA ไม่ใช่ว่าจะเสียเปล่าซะทีเดียว เพราะการซื้อประกัน MRTA ก็เพื่อประกันความเสี่ยงในกรณีผู้กู้เสียชีวิต ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะได้ไม่ต้องลำบากเรื่องการบริหารทรัพย์สินก้อนนี้ นั่นเพราะการคุ้มครองของประกัน MRTA เมื่อผู้ซื้อเสียชีวิต เงินชดเชยจะคุ้มครองสินเชื่อตัวนั้นทันที ทำให้เป็นทรัพย์สินปลอดภาระ คนข้างหลังไม่ต้องผ่อนอีกต่อไป

จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าบางครั้งอย่าตกหลุมพรางพนักงานขาย ซื้อประกัน MRTA จนเกินตัว หรือสร้างภาระการผ่อนที่ไม่คุ้มค่า เหมือนในบางตัวอย่างที่เคยเขียนไว้ กู้ 5 ล้าน โดนบังคับซื้อประกัน MRTA ไป 2 ล้าน หรือเท่ากับ 40% ของเงินกู้ แบบนั้นมันก็เกินไป ถ้าเขาผ่อนหมดก่อนคิดหรือว่าเขาจะรู้ตัวว่าไปเวนคืนกรมธรรม์ได้

แต่การไม่ซื้อ MRTA เลย ก็อาจจะถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้มองเห็นได้ ส่วนใหญ่เลยมักจะแนะนำให้ซื้อประกันชนิดนี้ แต่หากเรามีประกันชีวิตอยู่มากมายแล้ว ก็ควรจะแนบหลักฐานไปตอนยื่นกู้เลยว่า เรามีประกันชีวิตเยอะแล้ว ไม่ต้องนำเสนอ MRTA มาให้ก็ได้ แต่พนักงานธนาคารคงไม่พอใจเท่าไหร่ที่ KPI ชองตัวเองไม่เป็นไปตามเป้านั่นเอง

Leave a comment