วางแผนรายได้วัยเกษียณ ทำอย่างไรให้พอกับค่าใช้จ่าย
วัยเกษียณถือเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนเป็นกังวลว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไรกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่จะถึง ในอดีตสังคมไทยเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ ลูกหลานจะคอยเป็นผู้ดูแลยามแก่เฒ่า แต่โลกมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สังคมไทยก็เปลี่ยนตาม หลายคนจำต้องอาศัยการวางแผนที่ดีเพื่อชีวิตวัยชราที่ไม่ต้องลำบากขัดสนหรือต้องรบกวนลูกหลานมากเกินไป
ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้เราต้องวางแผนทางการเงินสำหรับวัยชราให้ดีนั้นมาจาก
1. เราไม่รู้ว่าเราจะดำรงความเป็นคนชราจนถึงอายุเท่าไหร่
2. คุณจะไม่มีรายได้ประจำจากเงินเดือนอีกต่อไป
3. คุณอาจจะไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเหมือนวัยหนุ่มในเรื่องเงินๆทองๆ
ความซับซ้อนของธรรมชาติของวัยชราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย เนื่องจากช่วงอายุขัยของมนุษย์ยาวมากขึ้นจากในอดีต จาก 100 ปีที่แล้วอายุขัยเฉลี่ยจะอยู่ราวๆ 60 ปี จนปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนเราเข้าใกล้ 80 ปี เข้าไปแล้ว
ส่วนเงินบำนาญแม้แต่ในระบบราชการยังแทบจะหาไม่ค่อยเจอ เนื่องจากเป็นภาระทางการเงินให้กับรัฐบาลมาก ราชการเขาเปลี่ยนมาใช้ระบบ กบข. กันไป ส่วนบริษัทเอกชนพอถึงวัยใกล้จ่ายบำนาญก็พยายามหาทางบีบให้เราลาออกซะงั้น
สมัยพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย เขาอาจจะกินบำนาญกันอยู่ ซึ่งสมัยเราเด็กๆรู้สึกว่าเป็นเงินจำนวนน้อยนิด แต่พอถึงวัยเกษียณมันกลับสร้างความมั่นคงให้กับพ่อแก่แม่เฒ่าเรามาแล้ว เนื่องจากมันแก้ไขปัญหา 3 ข้อข้างต้นได้อย่างดี เนื่องจากรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนกว่าเราจะเสียชีวิต แต่ปัจจุบันเราหลายคนคงไม่ได้ทำงานในลักษณะนั้นอีกต่อไป บริษัทใหญ่ๆจ่ายบำนาญดีๆเขาไม่ค่อยบอกคนภายนอกให้เข้าไปสมัครกันหรอกว่าไหม
แต่สำหรับพวกเราคนวัยทำงานหรือวัยใกล้เกษียณ ก็ต้องหาทางวางแผนทางการเงินให้ดีๆ ควบคุมสถานะทางการเงินของตัวเองให้ได้ เราต้องทราบถึงความเสี่ยงและต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีในวัยเกษียณ นั่นหมายถึงเราต้องวางแผนล่วงหน้ากันเป็นสิบๆปีก่อนที่เราจะหยุดทำงาน
ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับคนที่ต้องการวางแผนทางการเงินสำหรับรายได้ในอนาคต
1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับคนวัยทำงานและทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่โตมั่นคง ทางบริษัทจะมีการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฏหมายเพราะถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง โดยทางนายจ้างจะมีการสมทบเงินเข้ากองทุนในสัดส่วนตามข้อกำหนดของบริษัท ยิ่งลูกจ้างสบทบมากเท่าใดนายจ้างก็จะสมทบมากขึ้นเท่านั้น
คำแนะนำก็คือเราในฐานะลูกจ้างควรจะสบทบในอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเงินสบทบส่วนนี้สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือเงินที่สมทบจะมีสัดส่วนของภาษีไปรวมอยู่ด้วยนั่นเอง
และยิ่งยอดเงินสมทบมาก นายจ้างก็ต้องสมทบมากขึ้น ผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้ทั้งทางฝั่งของเราและของนายจ้างอีกด้วย ซึ่งเงินสบทบของนายจ้างนั้นจะกลายเป็นเงินของเรา 100% ในอนาคตตามระยะเวลาการทำงานของเรากับองค์กรนั้นๆ หากทำงานด้วยระยะเวลาที่น้อยลงสัดส่วนก็จะลดลงไปตามลำดับ ระบบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเหมือนเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งให้กับลูกจ้าง และยังเป็นตัวจูงใจให้ลูกจ้างทำงานนานขึ้นอีกด้วยเพื่อให้ได้สัดส่วนเงินสมทบจากนายจ้างที่มากขึ้น
หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเปลี่ยนงานแล้วผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องถอนออกมาเป็นเงินสดแล้วต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไร ก็ต้องบอกว่ากฏหมายได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้อยู่แล้ว นั่นคือตามข้อกฏหมายเราจะมีเวลา 1 ปี (365 วัน) ในการย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากที่ทำงานหนึ่งไปยังกองทุนของอีกที่ทำงานหนึ่ง
ความหมายก็คือ เมื่อเราเปลี่ยนงาน เงินกองทุนของเราจะยังคงอยู่กับกองทุนเก่าได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จากนั้นทางผู้บริหารกองทุนจะทำหนังสือแจ้งเราให้เราย้ายกองทุนหรือเบิกเป็นเงินสดออกมา หากเราได้งานใหม่และมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราก็แค่แจ้งฝ่ายบุคคลให้จัดการย้ายกองทุนให้เรา ก็จะไม่ทำให้เราเสียสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆที่เคยมีอยู่เดิมแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นก็คือการนับระยะเวลาทำงานเพื่อคิดสัดส่วนของเงินสบทบหากออกจากงานและอัตราเงินสมทบที่จะได้รับจากที่ทำงานใหม่เท่านั้น
บทสรุปสำหรับคนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นราชการ (กบข) หรือบริษัทเอกชนก็คือ ควรสบทบเงินให้มากที่สุดเท่าที่ระบบยอมได้เพื่อผลตอบแทนในอนาคตวัยเกษียณที่สูงที่สุด
2.ซื้อกองทุน LTF RMF
นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อีกทางหนึ่งในการสะสมเงินสำหรับวัยเกษียณก็คือการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF ซึ่งรายละเอียดของกองทุนนี้ได้มีการกล่าวถึงไว้ต่างห่างแล้ว
ลักษณะของหน่วยลงทุน LTF และ RMF ก็คล้ายๆกับการฝากเงินระยะยาวโดยอาศัยเรื่องของภาษีเป็นแรงจูงใจ
ตัวอย่างเช่นหากรายได้ของเราอยู่ในขั้นที่ต้องเสียภาษีในสัดส่วน 20% นั้นแสดงว่าทุกๆเงินส่วนเกินที่โผล่มา 100,000 บาท จะทำให้เราต้องเสียภาษี 20,000 บาท นั่นแสดงว่ารายได้ของเราส่วนหนึ่งจะหายไป 20,000 บาทโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะบางครั้งเรานำเงินส่วนเกิน 100,000 บาทนั้นไปฝากธนาคารอยู่ดี และได้ดอกเบี้ยเพียงปีละไม่ถึง 2% หรือปีละไม่เกิน 2,000 บาทเท่านั้น
ดังนั้นไหนๆ เราก็นำเงินจำนวนนั้นไปฝากธนาคารอยู่แล้ว ทำไมไม่ฝากเข้ากองทุนระยะยาวซะเลยเพื่อจะได้เสียภาษีให้น้อยลง หรือหากมองอีกทางหนึ่งเราได้ผลประโยชน์ทันที 20% หากเรานำเงินไปซื้อกองทุน LTF หรือ RMF
ตัวอย่างแบบละเอียดก็คงเป็นดังนี้
หากคุณมีรายได้เดือนละ 65,000 บาท รายได้ทั้งปีประมาณ 780,000 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่าย (100,000บาท) และค่าลดหย่อน (60,000 ) แล้วจะเหลือรายได้ที่ต้องเสียภาษี 620,000 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีแบบขั้นบันไดจำนวนรวมทั้งสิ้น 45,500 บาท ซึ่งขั้นสุดท้ายเสียภาษีที่ 15% ของยอดเงิน 120,000 บาท
ซึ่งหากนำรายได้ส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุน LTF ตามสิทธิ์สูงสุด 117,000 บาท จะทำให้ประหยัดภาษีได้ทันที 17,550 บาท หรือประหยัดเงินไป 15% ความหมายคือแทนที่จะนำเงิน 117,000 ไปฝากธนาคารแล้วยังต้องเสียภาษี 45,500 เหมือนเดิม แต่หากนำเงินไปซื้อกองทุน LTF 117,000 บาท เราก็จะเสียภาษีเพียง 27,950 บาทเท่านั้น
หรือหากจะใช้สิทธิ์เต็มที่เก็บเงินปีนี้ 234,000 บาท ด้วยการซื้อกองทุน RMF อีก 117,000 บาทตามสิทธิ์ ก็จะเสียภาษีของปีนี้เพียง 16,100 บาท เท่ากับประหยัดค่าภาษีไปเกือบ 30,000 บาท แถมยังมีเงินเก็บอีก 234,000 บาทไว้ใช้ยามเกษียณอีกด้วย
ที่กล่าวมาข้างต้นคือประโยชน์ของกองทุน LTF หรือ RMF สำหรับคนที่ต้องการบริหารภาษีให้จ่ายน้อยที่สุดแบบถูกกฏหมาย และยังมีเงินไว้ใช้ในวัยเกษียนอีกด้วย ซึ่งแม้คนที่ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่หากมีรายได้มากจนถึงจุดที่ต้องเสียภาษีสูงขึ้นก็สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน
3. ซื้ออสังหาริมทรัพย์
หลายคนบังคับตัวเองให้เก็บเงินไม่ได้ พอเริ่มเห็นเงินฝากเป็นก้อนก็มีอันให้ต้องคิดโครงการใช้จ่ายเงินก้อนนั้นทันที ดังนั้นหากเก็บเงินเองไม่ได้ก็คงต้องให้คนอื่นบังคับ ด้วยหลักการง่ายๆก็คือการหาซื้อบ้านตามหมู่บ้านจัดสรรใกล้ที่ทำงานหรือใกล้บ้านเดิมของตัวเองจะได้มีคนดูแล ซึ่งการซื้อบ้านจะต้องอาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ด้วยวัยทำงานจะทำให้เราสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องใช้เงินก้อน
หากเราเลือกอสังหาริมทรัพย์ในทำเลดีๆ เราก็พอจะหาผู้เช่าที่มีคุณภาพได้ ซึ่งหากเราเก็บสะสมเงินดาวน์ไว้พอประมาณจะทำให้เราไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมากนักตลอดระยะเวลาในการผ่อนทรัพย์สินนั้น
ตั้งราคาค่าเช่าให้สูงเข้าไว้ เช่นละแวกนั้นเขาให้เช่ากันหลังละ 5000 บาท เราอาจจะตั้งราคาไว้ที่ 8,000 – 10,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการคัดเลือกผู้เช่าไปในตัว การปล่อยเช่าราคาตลาดทำให้เราได้ลูกค้าที่อาจจะไม่ดูแลบ้านเท่าใด เพราะค่าเช่าต่ำๆเราจะได้คนที่มีพื้นฐานอีกระดับหนึ่ง
การตั้งราคาค่าเช่าสูงแม้จะหาคนเช่าได้ยาก แต่ลูกค้าในระดับนี้มีแน่นอน พอเขาเห็นราคานี้เขาก็ต้องมองว่าที่บ้านมีอะไรดี เช่นหมู่บ้านนี้มีอายุ 10 ปี แต่บ้านนี้ไม่เคยมีคนเช่าก็จะเป็นบ้านใหม่ที่ไม่เคยมีใครอยู่มาก่อน เราก็จะได้ผู้เช่าที่อาจจะเป็นผู้บริหารที่มองหาบ้านเช่าคุณภาพดีไม่เสื่อมโทรมเป็นต้น
หลังจากซื้อบ้านหลังแรกไปแล้ว เมื่อโบนัสออกก็นำเงินไปโปะ มีเงินเหลือก็นำไปผ่อนบ้านจะได้ปลอดภาระเร็วๆ การผ่อนบ้านถือเป็นทรัพย์สินที่สามารถทำกำไรได้มากกว่าเงินเฟ้อเสียอีก นั่นเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่ใครๆก็ต้องการ
อย่างแถวบ้านผู้เขียนผ่านไปเพียง 5 ปี ราคาบ้านจากเดิม 1 ล้านบาท กลายมาเป็น 1.5 ล้านบาท ต่อมาอมีห้างมาเปิดใกล้ๆ ผ่านไปอีก 5 ปี ราคาบ้านพุ่งพรวดไปเป็น 2 ล้านบาท โดยแม้บ้านจะทรุดโทรมไปเป็น 10 แล้ว แต่ราคาบ้านกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางรายถึงกับขายบ้านปิดหนี้แล้วยังได้กำไรเป็นล้าน เอาไปซื้อบ้านสวนหรือไปลงทุนอย่างอื่นอยู่หลายหลังด้วยกัน
พอเราซื้อบ้านหลังแรกได้ ผ่านไป 10 ปี เราอาจจะหาผู้เช่าได้ ราคาค่าเช่าก็มากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น หนี้บ้านก็ลดลง ก็อาจจะมองหาบ้านหลังที่ 2 เพื่อกู้ซื้อบ้านต่อไป ทำแบบนี้จนถึงวัยเกษียณจะพบว่าบางคนมีบ้านให้เช่าเป็น 10 หลัง แค่หลังละ 5,000 บาท ก็มีรายได้ถึงเดือนละ 50,000 บาทในอัตราปัจจุบัน
หรือหากไม่มีคนเช่าก็ทยอยขายไปเรื่อยๆ สมมุตว่าขายได้หลังละ 2 ล้านบาท ถ้าใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ก็ใช้จ่ายไปได้ 5 – 6 ปี ถือเป็นการสะสมทรัพย์สินสำหรับวัยเกษียณที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างง่ายดายกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียว
4. ระมัดระวังจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
แม้เราจะสะสมทรัพย์สมบัติไว้มากมาย แต่เมื่อชราลง ความสามารถในการตัดสินใจก็จะถดถอยลง อาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจนเสียทรัพย์ถึงขั้นล้มละลายเอาได้ง่ายๆ
ด้วยความสามารถที่ลดถอยลงตามอายุ คนชรามักจะตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพโดยง่าย ซึ่งรูปแบบการหลอกลวงจะมาในหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยกันซึ่งหน้า การหลอกลวง การทำทีเป็นว่ามาซ่อมบำรุงบ้านแล้วคิดค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว หรือการให้คำแนะนำในการลงทุนแบบผิดๆ
ดังนั้นคุณควรหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเพื่อนฝูง หรือญาตมิตร หรือลูกหลานของตัวเองไว้ติดต่อยามฉุกเฉินเมื่อถึงเวลาที่มีคนมาเรียกร้องเงินจากคุณ
เช่นหากมีคนมาเคาะประตูบ้านแล้วบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหรือประปาจะมาตรวจสอบอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้โทรติดต่อคนที่เราไว้ใจมาเป็นตัวกลางในการเจรจาประสานงาน หรือต่อสายให้คุยกับลูกชายเพื่อซักถามประเด็นต่างๆให้มั่นใจก่อน แล้วจะโอนเงินค่าใช้จ่ายให้ภายหลังโดยการขอเลขบัญชีแทนที่จะจ่ายเงินสดเป็นต้น
การไม่หลงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบ ถือเป็นการเก็บรักษาทรัพสินที่หามาอย่างเหนื่อยยากตลอดช่วงชีวิตไม่หายไป
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.