ธปท. เบรกเงินกู้ซื้อบ้าน ห่วงหนี้เสียพุ่ง
ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงหนี้เสียเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยพุ่งสูง ออกมาตรการคุมเข้มการซื้อบ้านหลังที่สองหรือบ้านราคาเกิน 10 ล้านจะต้องวางมัดจำ 20% เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2562 นี้ บังคับเฉพาะการกู้ใหม่และการรีไฟแนนซ์โดยไม่มีผลย้อนหลัง
สำหรับมาตรการใหม่ที่จะบังคับใช้ในช่วงต้นปีนี้ มีขึ้นเนื่องจากการแข่งขันของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อทำให้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อหย่อนยานลง เช่นการไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ กู้ซื้อบ้านแล้วมีเงินทอนเพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดภาวะหนี้เสียขึ้นมา
ระหว่างนี้ทาง ธปท จะมีการกำหนดเกณฑ์การซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือการซื้อบ้านที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้คิดรวมสินเชื่อเพิ่มเติมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อการตกแต่งหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซื้อประกันชีวิต รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 80% อีกทั้งจะต้องมีการวางเงินดาวน์ 20% เพือป้องกันการเก็งกำไร
มาตรการคุมเข้มนี้เกิดจากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 พบว่ามีการทำสัญญาซื้อขายมากกว่า 2 สัญญาเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากกลุ่มผู้กู้รายเดิมที่รายได้เฉลี่ย 1.2 แสนบาทต่อเดือนลดลงมาเป็น 8 หมื่นบาทต่อเดือน
และยังพบอีกว่า ผู้กู้ที่มี 2 สัญญาขึ้นไป มีแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อแย่ลง โดย NPL เพิ่มมาอยู่ที่ 3.4% จากเดิม 2.5% เมื่อปี 2558 ซึ่งจากจำนวนสัญญาทั้งหมดคาดว่าราว 15% เป็นสัญญาแบบเก็งกำไร
แต่ในส่วนของผู้กู้สัญญาแรก หรือสัญญาแรกไม่เกิน 10 ล้านบาท จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยบ้านแนวราบจะยังสามารถขอสินเขื่อได้ที่อัตรา 95% และคอนโดมิเนียมที่ 90% ส่วนกรณีที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติม รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 100% ของหลักประกัน
สำหรับมาตรการที่ออกมาของ ธปท ในครั้งนี้นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความร้อนแรงของตลาดอสังหาทำให้มีโครงการต่างๆออกมาเป็นจำนวนมาก หลายโครงการนำเสนอในลักษณะกู้ซื้อบ้านแล้วมีเงินทอน หรือบางโครงการนำเสนอว่ามีรายได้จากการให้เช่าแบบรับรองค่าเช่านานถึง 2 ปี ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นรูปแบบการทอนเงินแบบระยาวเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ซื้อนำไปซื้อบ้านหลังต่อๆไป จนอาจสร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินเอาได้
หลังจากนี้คาดว่าผู้ประกอบการก็อาจจะต้องมีการทำการตลาดกันในรูปแบบใหม่ ออกมาเพื่อขับเคี่ยวกับกำลังซื้อที่เริ่มมีน้อยลง สถาบันการเงินก็คงต้องลดความร้อนแรงของการปล่อยกู้เพื่อแย่งลูกค้าจนอาจจะสร้างปัญหาฟองสบู่อสังหาขึ้นมาอีกรอบก็เป็นได้
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.