คลิ้กเลย!! เทพแห่งเงินด่วน โทร 0928840418 <- จิ้มที่ตัวเลขแล้วกดโทรเลย

News Ticker

ประกัน MRTA คืออะไร สมควรจ่ายค่าประกันนี้ตอนซื้อบ้านหรือไม่

ประกัน MRTA คืออะไร สมควรจ่ายค่าประกันนี้ตอนซื้อบ้านหรือไม่

ถือเป็นเรื่องหนักใจสำหรับคนซื้อบ้านด้วยสินเชื่อจากธนาคารในยุคนี้ เพราะแทบทุกสถาบันการเงินจะให้ทางเลือกกึ่งบังคับสำหรับผู้ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้ซื้อประกันคุ้มครองชนิดนี้ด้วย ปัญหาคือ ยอดเงินค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันชนิดนี้จะสูงมากเมื่อเทียบสัดส่วนของวงเงินกู้ที่ได้มา และยังต้องมาผ่อนจ่ายไปพร้อมๆกับเงินกู้ซื้อบ้าน ทำให้เงินที่จ่ายไปจริงนั้นสูงมาก

บางรายเจอเทคนิคการขายที่เอารัดเอาเปรียบจากสถาบันการเงิน โดยกู้เงินซื้อบ้านในราคา 5 ล้านบาท ซึ่งกู้ร่วมสองคน ปรากฏว่าโดนจ่ายค่าเบื้ยประกันไปคนละล้านกว่าบาท รวมแล้วเป็นหนี้สินที่ต้องผ่อนจ่ายถึง 7 ล้านกว่าบาท

ในเมื่อประกัน MRTA ถือเป็นทางเลือกของลูกค้า เรามาดูกันนะครับว่าสมควรหรือไม่ที่เวลาซื้อบ้านแล้วเราต้องซื้อประกันประเภทนี้ไว้ด้วย

ประกัน MRTA คืออะไร

MRTA เป็นชื่อย่อของ Mortgage Reduced Term Assurance ซึ่งถ้าแปลตรงๆก็จะได้ใจความว่าประกันสินเชื่อบ้านแบบลดมูลค่า แต่สถาบันการเงินอาจจะให้ชื่อว่า ประกันชีวิตคุ้มครองทรัพย์สิน หรือชื่ออื่นๆตามแต่จะเรียก

แต่สิ่งที่แตกต่างจากประกันชีวิตที่เรารับรู้กันโดยทั่วไปก็คือ ประกันชีวิตธรรมดาจะคุ้มครองวงเงินเอาประกันตลอดอายุสัญญา แต่ MRTA จะลดวงเงินคุ้มครองลงทุกปีจนปีหลังๆวงเงินคุ้มครองจะเหลือน้อยมาก ดังตัวอย่างเปรียบเทียบด้านล่างนี้สำหรับวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี

ปี/วงเงินคุ้มครอง ประกัน MRTA ประกันชีวิตทั่วไป
ปีที่ 1 1,000,000 1,000,000
ปีที่ 2 910,000 1,000,000
ปีที่ 3 780,000 1,000,000
ปีที่ 4 620,000 1,000,000
ปีที่ 5 480,000 1,000,000
ปีที่ 6 350,000 1,000,000
ปีที่ 7 220,000 1,000,000
ปีที่ 8 110,000 1,000,000
ปีที่ 9 85,000 1,000,000
ปีที่ 10 20,000 1,000,000

** หมายเหตุ ตัวเลขข้างต้นเป็นประมาณการเท่านั้น ตัวเลขแท้จริงของวงเงินคุ้มครอง MRTA กรุณาตรรวจสอบกับบริษัทรับประกัน

จะเห็นได้ว่าประกัน MRTA ซึ่งมีความคุ้มครองในระยะเวลา 10 ปีนั้น ไม่ได้คุ้มครองเต็มวงเงินตลอดช่วงระยะเวลานั้น เนื่องจากสถาบันการเงินถือว่าเวลาผ่านไป ก็ต้องมีการผ่อนบ้านไปเรื่อยๆ หนี้สินก็ย่อมลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นผ่อนบ้านไป 5 ปี จากยอดหนี้ 1 ล้านบาท ก็อาจจะเหลือเพียง 600,000 บาทเป็นต้น ดังนั้นความคุ้มครองจึงไม่จำเป็นต้องเต็มวงเงิน 1 ล้านบาทอีกต่อไป

เนื่องจากประกัน MRTA จะให้ความคุ้มครองสินเชื่อเงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งจะมีระยะเวลาการผ่อนชำระเป็นเวลานานเช่น 10 – 30 ปี ดังนั้นการซื้อประกัน MRTA จึงมีข้อเสนอให้เลือกซื้อเช่นเดียวกัน โดยอาจจะซื้อเพื่อให้คุ้มตรองตลอดระยะเวลาของสินเชื่อ หรือคุ้มครองน้อยกว่าก็ได้ เช่นหากสัญญาเงินกู้กำหนดให้ผ่อนชำระคืนภายในเวลา 30 ปี ลูกค้าอาจจะซื้อ MRTA เพียง 10 หรือ 20 ปีก็ได้ ซึ่งความคุ้มครองก็จะสั้นลงและแน่นอนว่าเบี้ยประกันก็ย่อมลดลงด้วย

อีกตัวเลือกหนึ่งก็คือวงเงินเอาประกันภัย ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้เช่นกันว่าจะให้คุ้มครองวงเงิน 100% หรือไม่ เช่นวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อาจจะเลือกให้คุ้มครองปีแรกที่ 1 ล้านบาท (100%) หรือคุ้มครองแค่ 600,000 บาท (60%) ก็ย่อมได้ ทั้งนี้ควรให้ทางสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้นำเสนอหลากหลายรูปแบบหากจำเป็นต้องซื้อ

จำเป็นต้องซื้อ MRTA หรือไม่

ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกัน MRTA นั้นเป็นเพียงตัวเลือกที่สถาบันการเงินอาจนำเสนอให้กับลูกค้าเพื่อเป็นทางเลือกหากลูกค้าต้องการความอุ่นใจในกรณีที่ในอนาคตอาจมีเหตุไม่คาดฝัน บริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระแทนตามวงเงินที่เหลือ

ทั้งนี้สถาบันการเงินอาจจะมีข้อเสนอเพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาเลือกซื้อประกัน MRTA เช่นส่วนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือการผ่อนชำระควบคู่ไปกับวงเงินกู้เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เงื่อนไขบังคับว่าผู้ขอสินเชื่อจะต้องทำประกัน MRTA เราสามารถปฏิเสธได้ แต่ลูกค้ามักเกรงว่าสินเชื่อจะไม่ได้รับการอนุมัติเลยต้องจำใจซื้อ กรณีนี้จึงแนะนำว่าหากทางเจ้าหน้าบอกว่าต้องทำประกันไม่งั้นจะไม่อนุมัติสินเชื่อ ก็ให้หาวิธีรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เช่นการถ่ายวิดีโอ การขอเอกสารหลักฐานที่ระบุว่าต้องทำ แล้วนำไปร้องเรียนกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้

หรืออีกกรณีหนึ่งหากเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การขอเวนคืนกรมธรรมธ์หลังจากได้รับมาแล้วภายใน 15 วัน โดยให้ติดต่อกับบริษัทประกันโดยตรง เนื่องจากสถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นเพียงนายหน้าเท่านั้น แม้จะได้เงินน้อยกว่าที่จ่ายเป็นแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้คืนเลย เนื่องจากเป็นเงินที่เราต้องผ่อนจ่ายออกไปเป็นระยะเวลาหลายปี หากไม่มีข้อกำหนดค่าปรับในการชำระคืนเงินกู้ ก็ควรนำเงินที่ได้คืนมาชำระเป็นเงินกู้เพื่อให้ยอดเงินลดลงทันที

หลายรายอาจจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตามเว็บบอร์ดสาธารณะเพื่อเรียกร้องให้ทางสถาบันการเงินแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่แล้วจะได้ผลที่น่าพอใจ คือได้เงินคืนเต็มจำนวน

MRTA  เทียบกับ PA

MRTA จะให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตในทุกกรณี รวมไปถึงกรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร อีกด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ซึ่งจะคุ้มครองการเสียชีวิตกรณีเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ค่าประกัน PA จะถูกกว่ามาก

ตัวอย่างเช่น (http://pantip.com/topic/30550941 )วงเงินประกัน 3 ล้านบาท คุ้มครอง 30 ปี กู้ร่วม 2 คน คนแรกค่าเบี้ยประกัน 134,090 คนที่สอง 363,478 รวมเบี้ยประกัน 497,568 บาท หรือเกือบๆ 5 แสนบาท โดยความคุ้มครองปีที่ 30 นั้นไม่ถึง 100,000 บาท แน่นอน

แต่หากเทียบกับการซื้อประกัน PA คนละ 3 ล้านบาท 2 คน รวม 6 ล้านบาท เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 8,400 บาทต่อปี (ณ. ปี 2558-59) จ่าย 30 ปี จะรวมตัวเลขเป็น 252,000 บาท ซึ่งจ่ายปีละครั้ง และปีที่ 30 ยังคุ้มครองที่ 3 ล้านบาทเท่าเดิม หากปีหลังๆ ลดวงเงินประกันลงก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยลงไปอีก แต่ประกันชนิดนี้ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

จะเห็นได้ว่าประกัน PA อาจจะคุ้มค่ากว่ามาก แต่มีข้อเสียอย่างเดียวคือการไม่คุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยเหมือน MRTA แต่อาจจะเป็นทางเลือกในการต่อรองโดยซื้อ MRTA ที่วงเงินต่ำลง ระยะเวลาน้อยลง แล้วซื้อ PA เสริมเอาด้วยก็ได้

ความคุ้มครองของ MRTA

ผู้เอาประกัน MRTA จะได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาสัญญาดังนี้

1. การเสียชีวิตทุกกรณี (ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์) เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยตามตารางจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงในกรมธรรม์

2. กรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร (ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์) ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

2.1 กรณีตกเป็นบุคคลทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยของเดือนที่เริ่มต้นทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรตามตารางจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงในกรมธรรม์ และสัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง

2.2 กรณีตกเป็นบุคคลทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร เนื่องจากเกิดการสูญเสียที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนหรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าตกเป็นบุคคลทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยของเดือนที่เริ่มต้นทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรตามตารางจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงในกรมธรรม์ และสัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง

เฉพาะเบี้ยประกันภัยของความคุ้มครองชีวิตเท่านั้นที่สามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 172 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 51
ทั้งนี้สำหรับระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

สมควรต้องซื้อประกัน MRTA หรือไม่

ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น สถาบันการเงินไม่มีสิทธิ์ที่จะบังคับผู้ขอสินเชื่อให้ซื้อประกัน MRTA ได้ แต่หากท่านเกรงว่าสถาบันการเงินจะไม่อนุมัติสินเชื่อ หรือเกรงว่าจะล่าช้าไม่ทันโปรโมชั่นที่ท่านจะได้รับจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือโครงการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากรัฐบาล ท่านอาจจะต้องยื่นเอกสารไปยังหลายๆธนาคาร เพื่อดูเงื่อนไขที่ดีที่สุด

หรือท่านอาจจะต่อรองกับสถาบันการเงินนั้นๆ ในการซื้อ MRTA ดังนี้คือ
– ขอลดวงเงินคุ้มครองลง เช่น 50% ของวงเงินสินเชื่อ
– ขอลดระยะเวลาคุ้มครองลงเช่นเหลือเพียง 5 ปี หรือ 10 ปี โดยไม่จำเป็นต้องซื้อประกันให้คุ้มครองตลอดระยะเวลาของสินเชื่อ
– เสนอซื้อประกัน PA เสริมในช่วงปีแรก

เหตุผลที่อาจจะใช้ในการโน้มน้าวได้ก็คือท่านอาจจะแจ้งว่า ช่วงปีหลังๆ จะรีบโปะเงินให้หมดเร็วๆเนื่องจากกำลังจะขายที่ดินมรดกหรืออะไรก็แล้วแต่

หากด้วยความรีบร้อนและซื้อประกัน MRTA ด้วยเบี้ยประกันสูงๆไปแล้ว ท่านก็สามารถขอเวนคืนได้ โดยหากท่านยื่นขอยกเลิกประกัน MRTA ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับกรรมธรรมธ์ ท่านจะสามารถขอคืนเบี้ยประกันได้เกือบเต็มจำนวน

หากไม่ได้รับความสะดวกในการขอคืนเบี้ยประกัน ท่านสามารถแจ้งกรมการประกันภัยได้ทันที เพราะสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อนั้น ทำหน้าที่เป็นนายหน้าประกันภัยเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละบริษัทที่รับเงินเบี้ยประกันไป ท่านอาจจะสภาวะการโยนเรื่องไปมา จึงขอแนะนะว่าให้ติดต่อกับบริษัทประกันภัยโดยตรงตามเอกสารกรรมธรรม หากไม่ได้รับความสะดวกก็ให้แจ้งกรมการประกันภัย หรือไปเล่าเรื่องราวตามเว็บบอร์ดสาธารณะเพื่อขอคำแนะนำอีกทางหนึ่งด้วย

Leave a comment