เตรียมหักเงินเดือนคืนหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา
เตรียมหักเงินเดือนคืนหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อควบรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับกองทุนกู้ยืมเงินที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมาที่การติดตามเงินคืนจากผู้กู้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่รู้บุคคลผู้กู้นั้นไปอยู่ที่ไหน
อีกทั้งมีจำนวนคนที่ค้างเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาถึง 2 ล้านคน โดยจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการที่มีงานทำแล้ว รวมวงเงินคงค้างกว่า 52,000 ล้านบาท ส่งผลให้จำนวนเงินที่จะหมุนเวียนกลับมาให้กู้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อๆไปมีจำนวนน้อยลง
สำหรับตัวกฎหมายใหม่นี้ จะกำหนดให้มีตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาขึ้นมาเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการให้กู้เงินกับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และกำหนดให้มีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหาร โดยสามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลมาบริหารเงินและติดตามเร่งรัดหนี้สินเอาเงินคืนด้วย
สำหรับกระบวนการคืนเงินนั้นผู้กู้จะต้องส่งรายละเอียดของการยืมเงินเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่ขอกู้เงินได้ ซึ่งตัวกฎหมายเดิมไม่มี โดยกำหนดให้เจ้าของบริษัท หรือหัวหน้าส่วนราชการ ในขั้นตอนการรับบุคคลเข้าทำงานจะต้องส่งรายงานชื่อ ที่อยู่ รายได้มาให้และมีการหักเงิน ณ ที่จ่ายจากนายจ้าง คล้ายๆกับการหักภาษี โดยจะดูตามความเหมาะสมของรายได้ ภาระอื่นๆที่มี และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งจะมีการออกกฎหมายลูกมากำหนดรายละเอียดอัตราต่างๆต่อไป
ข่าวระบุว่าในระหว่างการพิจารณาเรื่องนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวคิด ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีนี้ที่เศรษฐกิจหดตัว เป็นสาเหตุทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถส่งเสียให้ลูกหลานอยู่ในระบบการศึกษาต่อได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่ามีเงินจากตรงไหนบ้างที่เอามาช่วยเหลือให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ โดยควรจะอยู่ในรูปแบบของเงินให้เปล่า ไม่ใช่เงินกู้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งกระทรวงการคลังและทีมเศรษฐกิจรายงานว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันอยู่ที่ 81.1 % ของจีดีพี แต่ขณะนี้อัตราการขยายตัวได้เข้าสู่การทรงตัว ไม่เพิ่มขึ้นแล้ว เหตุผลที่หนี้ครัวเรือนขยายขึ้นรวดเร็ว อาจเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก และการใช้บัตรเครดิตของผู้บริโภคในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ข่าวจาก thairath.co.th
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.